กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก โดยดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีในการประชุมเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
IMF ระบุในรายงานล่าสุดว่า กรรมการบริหารของ IMF เห็นด้วยกับการที่ BOJ ยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความผันผวนมากเกินไป และลดความเสี่ยงที่จะมีต่อเสถียรภาพด้านการเงินมหภาคในระหว่างที่ BOJ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินครั้งประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ IMF ระบุว่า BOJ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% และประกาศยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยที่ผ่านมา BOJ ได้ใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อและขายพันธบัตรดังกล่าว
นอกจากนี้ BOJ ได้ประกาศยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะค่อย ๆ ปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน โดยวางแผนว่าจะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นในวงเงินเท่ากับในช่วงที่ผ่านมา
การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ได้ตัดสินใจถอนนโยบายการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด