นายเชอริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของภูฏาน เปิดเผยในการหารือเกี่ยวกับ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ 2.0" (Gross National Happiness 2.0 หรือ GNH 2.0) ว่า ภูฏานกำลังมีการเปลี่ยนแปลงในบางระดับเนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่เสี่ยงจะพังทลาย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปรัชญาการปกครองโดยอิงตามเกณฑ์ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ของภูฏานนั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในด้านการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง โดยถือเป็นหลักการปกครองของภูฏานนับตั้งแต่ที่ได้รับการเปิดตัวโดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกในช่วงต้นยุค 1970
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่เกือบ 30% และ 1 ใน 8 ของประชากรที่มีชีวิตอยู่อย่างยากจน ทำให้ภูฏานมาถึงจุดที่ต้องตอบคำถามแล้วว่าความสุขของประชาชาติต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
นายต๊อบเกย์ตอบในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า "ทั้งใช่และไม่ ... ที่ใช่ เพราะเราต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต" แต่กล่าวเสริมว่า เราจะไม่ทิ้งหลักการ GNH
"ส่วนเราควรจะละทิ้งความระมัดระวังหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่ เราสามารถเติบโตได้ และสามารถเติบโตได้อย่างสมดุล" นายต๊อบเกย์กล่าว