ผู้ผลิตชาศรีลังกาโวยต้นทุนพุ่ง หลังรัฐบังคับขึ้นค่าจ้างคนงาน 70%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2024 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มผู้ผลิตชาในศรีลังกาได้ออกมาตำหนิรัฐบาลที่สั่งการให้ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 70% โดยกล่าวว่าการปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลให้ชาของพวกเขาไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และทำให้รายได้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ลดลง โดยสกุลเงินดอลลาร์เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาที่ศรีลังกาเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ด้านการเงิน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตชาซีลอน (Ceylon Tea) ของศรีลังกามีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ และมีการจ้างคนงาน 615,000 คน โดยศรีลังกาส่งออกชาไปต่างประเทศในอัตราส่วนสูงถึง 95% ของชาที่ผลิตได้จำนวน 250 ล้านกิโลกรัม

รัฐบาลศรีลังกาได้สั่งให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างให้กับคนงานเป็น 1,700 รูปี (5.66 ดอลลาร์)/วัน จากเดิมที่ระดับ 1,000 รูปี/วัน โดยอุตสาหกรรมการผลิตชาระบุว่าการปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตชาเพิ่มขึ้นอีก 45%

สมาคมผู้ผลิตชาซีลอนของศรีลังกา (PAoC) เปิดเผยว่า การที่เศรษฐกิจศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านการเงิน อันเนื่องมาจากเม็ดเงินในทุนสำรองเงินต่างประเทศทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชาในประเทศ โดยทำให้ต้นทุนปุ๋ย เชื้อเพลิง และพลังงานพุ่งขึ้นถึง 4 เท่า

"เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ยั่งยืนและไม่ได้รับความเป็นธรรม รัฐบาลตัดสินใจในเรื่องนี้โดยไม่มีการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม และจะส่งผลให้คุณภาพชาของศรีลังกาด้อยลงด้วย ขณะที่บรรดาคู่แข่งของศรีลังกา ซึ่งได้แก่อินเดียและเคนยานั้น ได้ปรับลดราคาและเพิ่มกำลังการผลิต" รอสฮาน ราจาดูไร โฆษกของสมาคม PAoC กล่าวกับผู้สื่อข่าว

กระทรวงแรงงานศรีลังกาเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) ว่า อุตสาหกรรมการผลิตชาต้องเริ่มปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป พร้อมกับเตือนว่าบริษัทปลูกชาที่ปฏิเสธการทำตามคำสั่งดังกล่าวจะต้องถูกรัฐบาลเทกโอเวอร์กิจการ

ทั้งนี้ สมาคม PAoC ระบุว่า การดำเนินตามคำสั่งปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกของบริษัทผลิตชาเพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านรูปี

ก่อนหน้านี้บริษัทปลูกชาและสหภาพแรงงานได้เจรจากันเป็นเวลานานหลายเดือนเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินเดือน โดยการยืนหยัดต่อสู้ของสหภาพแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หลังจากวิกฤตการณ์ด้านการเงินของศรีลังกาได้ส่งผลให้ประชากรราว 1 ใน 4 เผชิญความยากจนในปี 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ