ไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาให้กับบรรดาผู้ผลิตชิป
ทั้งนี้ การผลิตชิปจำเป็นต้องใช้พลังงานและไฟฟ้าในปริมาณมาก และรัฐบาลไต้หวันกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศ
นายเจิน จง-ชุน ผู้ช่วยฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชุงหัว (Chung-Hua Institution for Economic Research) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า "ความกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนพลังงาน และภาวะตกต่ำด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือของพลังงาน อาจจะสร้างความเสี่ยงในการดำเนินงานให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์"
ไต้หวันเคยเผชิญวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ 3 ครั้งในช่วง 7 ปีที่แล้ว และเผชิญกับภาวะติดขัดด้านพลังงานเล็กน้อยหลายครั้งในปี 2566 ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.ปีนี้ เฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือของไต้หวันเพียงแห่งเดียว ได้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานเป็นจำนวนครั้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์แค่ในระยะเวลาเพียง 3 วัน
ในปี 2565 ได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 313 ครั้งในไต้หวัน โดยเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในปีนั้นได้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่า 5 ล้านครัวเรือน ส่วนเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในปี 2560 ได้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนเกือบ 7 ล้านครัวเรือน
โยเซฟ เวบส์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พลังงานโลกแห่งสภาแอตแลนติกกล่าวว่า "ไต้หวันเผชิญทั้งปัญหาขาดแคลนพลังงานและขาดแคลนไฟฟ้า" พร้อมกับเสริมว่า ในขณะที่ปัญหาไฟฟ้าดับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกริดไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานนานนั้น ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าไฟฟ้าที่ต่ำเกินจริงของไต้หวัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อุปสงค์ปรับตัวสูงขึ้น และนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอุปทานไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า ไต้หวันนำเข้าพลังงานกว่า 97% ของความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ โดยพลังงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากถ่านหินและก๊าซ นอกจากนี้ การที่ไต้หวันต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศอื่น ๆ อย่างมากนั้น ทำให้ไต้หวันมีความเปราะบางต่อภาวะติดขัดด้านอุปทานพลังงาน