คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการนำเข้าจากจีนเมื่อวานนี้ (12 มิ.ย.) ซึ่งก่อให้เกิดเสียงคัดค้านและความกังวลจากรัฐบาลและภาคธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป
ทั้งนี้ EC ประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษกับยานยนต์ไฟฟ้าระบบแบตเตอรี (BEV) ที่มีการนำเข้าจากจีน นอกเหนือจากการเรียกเก็บภาษี 10% ในปัจจุบัน โดยบริษัท SAIC จะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษ 38.1% ขณะที่บริษัท Gleely ถูกเรียกเก็บ 20% และบริษัท BYD ถูกเรียกเก็บ 17.4%
อย่างไรก็ดี EC ระบุว่า มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค. โดยจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่าง EC และบริษัทรถยนต์แต่ละแห่ง เพื่อพิจารณาว่าทางบริษัทให้ความร่วมมือกับ EC หรือไม่ ก่อนที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ EC เริ่มการสอบสวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เดือนต.ค. 2566
นายมาร์ตัน เนกี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฮังการี ประณามการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นการกีดกันทางการค้ามากเกินไป พร้อมกับเน้นย้ำว่าการกีดกันทางการค้าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตในจีนและขัดขวางการแข่งขันในตลาด พร้อมกับแนะนำว่า EU ควรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของอุตสาหกรรม EV ยุโรป แทนที่จะกำหนดอัตราภาษีพิเศษ เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการแข่งขันและการเติบโตของตลาด EU เอง
นายโอลิเวอร์ ซิปเซ ซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู วิพากษ์วิจารณ์แผนของ EC ว่าเป็น "แนวทางที่ผิด" โดยระบุว่า แผนดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทในยุโรปและผลประโยชน์ของยุโรป พร้อมกับเน้นย้ำว่า การกีดกันทางการค้านำไปสู่การเก็บภาษี และการเก็บภาษีสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากกว่าการร่วมมือกัน
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อื่น ๆ ของเยอรมนี เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์คสวาเกน ต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมและการค้าโลกเสรี โดยโฟล์คสวาเกนคัดค้านแผนการเก็บภาษีพิเศษดังกล่าว และให้เหตุผลว่า "ผลกระทบด้านลบของการตัดสินใจครั้งนี้มีมากกว่าผลประโยชน์สำหรับยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี"