ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยในวันนี้ (18 มิ.ย.) โดยระบุว่า กระแสความคลั่งไคล้ในสินค้าแบรนด์เนมของชาวเกาหลีใต้อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้พุ่งขึ้นสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มพัฒนาแล้ว และจะทำให้ BOK เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการควบคุมเงินเฟ้อซึ่งมีสาเหตุมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อิม อุง-จี นักวิจัยของ BOK กล่าวว่า "การที่ชาวเกาหลีใต้มีความชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนมอย่างมากนั้น อาจจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอีก และทำให้ผู้จำหน่ายสินค้าชื่อดังระดับโลกหันมาให้ความสนใจตลาดเกาหลีใต้กันมากขึ้นด้วย"
งานวิจัยของ BOK ระบุว่า สินค้าหรูหราส่วนใหญ่ที่มีการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้านั้น มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูง ในขณะที่ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายจากต่างประเทศมักตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้นในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ พบว่ามีสินค้าในห้างสรรพสินค้าเพียง 3% เท่านั้นที่ถูกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง
BOK ประมาณการว่า การใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของชาวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 24% ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในมุมมองของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น เกาหลีใต้ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าแบรนด์ชั้นนำอย่าง Prada, Moncler และ Burberry
งานวิจัยของ BOK ยังระบุด้วยว่า นโยบายการเงินถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายรี ชางยง ผู้ว่าการ BOK กล่าวในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ BOK มีเป้าหมายที่จะฉุดเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.2%
รัฐบาลเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าดัชนี CPI จะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ด้านกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้คาดว่า ดัชนี CPI ปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 2.6%