ขุนคลังญี่ปุ่นแจงนโยบาย FX ไม่มีปัญหา แม้สหรัฐขึ้นบัญชีประเทศถูกจับตา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2024 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นจะยังคงสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากสหรัฐประกาศเพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

นายซูซูกิกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า การที่สหรัฐเพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตานั้น ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐมองว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นมีปัญหา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นถูกรวมอยู่ในบัญชีดังกล่าวโดยอัตโนมัติ เช่น ดุลการค้าทวิภาคี

"เราจะยังคงสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าความผันผวนที่มากเกินไปและไร้ระเบียบของค่าเงินนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงิน" นายซูซูกิกล่าว

ถ้อยแถลงดังกล่าวของรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นมีขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐได้เพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี สหรัฐไม่ได้ระบุว่าญี่ปุ่นหรือประเทศคู่ค้ารายใด ๆ มีพฤติกรรมปั่นค่าเงิน

กระทรวงการคลังสหรัฐระบุในรายงานรอบครึ่งปีซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) ว่า ไม่มีประเทศใดที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมปั่นค่าเงินในปี 2566 แต่สหรัฐได้เพิ่มญี่ปุ่นรวมในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐได้นำจีน เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเยอรมนี รวมอยู่ในบัญชีดังกล่าว

รายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า สหรัฐไม่พบว่ามีประเทศใดที่เข้าเกณฑ์ครบ 3 ประการที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลา 4 ไตรมาสที่นับจนถึงเดือนธ.ค. 2566

ทั้งนี้ ประเทศใดก็ตามที่เข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 ประการก็จะถูกรวมอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตาของสหรัฐโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกณฑ์ทั้ง 3 ประการนั้นได้แก่ มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์, มีดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศทั่วโลกสูงกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีการซื้อสกุลเงินต่างประเทศสุทธิแบบทางเดียว (one-way net foreign exchange purchases) ในอัตราส่วนอย่างน้อย 2% ของตัวเลข GDP เป็นเวลานานกว่า 12 เดือน

กระทรวงการคลังสหรัฐได้ระบุถึงญี่ปุ่นว่า การที่ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อพยุงค่าเงินเยนในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐเพิ่มรายชื่อญี่ปุ่นเข้าในบัญชีประเทศที่ถูกจับตาด้านค่าเงิน แต่เป็นเพราะญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐในปี 2566 สูงถึง 6.24 หมื่นล้านดอลลาร์ และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 3.5% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.8% ในปี 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ