ญี่ปุ่นย้ำพร้อมแทรกแซงตลาด FX หากจำเป็น หลังเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2024 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นยืนยันว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดทุกเวลาหากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

"หากสกุลเงินเยนมีความผันผวนมากจนเกินไปก็จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น การที่เงินเยนเคลื่อนไหวมากเกินไปในขณะนี้ เป็นผลมาจากการเก็งกำไร ซึ่งเราก็พร้อมที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม" นายคันดะกล่าว

การแสดงความเห็นของนายคันดะมีขึ้นในขณะที่เงินเยนร่วงลงสู่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ทางการญี่ปุ่นได้เคยเข้ามาแทรกแซงตลาดในอดีต

ตลาดการเงินเชื่อว่าญี่ปุ่นได้ใช้เงิน 9.8 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 6.13 หมื่นล้านดอลลาร์ในการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในระหว่างวันที่ 26 เม.ย. - 29 พ.ค. โดยแม้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้ระบุถึงวันที่ที่แน่นอนของการแทรกแซง แต่รูปแบบการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราบ่งชี้ว่ามีการแทรกแซงตลาดรอบใหญ่สองรอบในวันที่ 29 เม.ย. และ 1 พ.ค. นอกจากนี้ ข้อมูลทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขายพันธบัตรเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการแทรกตลาดปริวรรตเงินตรา

นายคันดะกล่าวว่า ทางการสหรัฐไม่คัดค้านการแทรกแซงตลาดของญี่ปุ่น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐคือความโปร่งใส นอกจากนี้ นายคันดะกล่าวอีกว่า การตัดสินใจของสหรัฐในการเพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์การกำกับดูแลสกุลเงินของญี่ปุ่น

กระทรวงการคลังสหรัฐได้เพิ่มญี่ปุ่นในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยระบุว่าการที่ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อพยุงค่าเงินเยนในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐเพิ่มรายชื่อญี่ปุ่นเข้าในบัญชีประเทศที่ถูกจับตาด้านค่าเงิน แต่เป็นเพราะญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐในปี 2566 สูงถึง 6.24 หมื่นล้านดอลลาร์ และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 3.5% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.8% ในปี 2565

ทั้งนี้ ประเทศใดก็ตามที่เข้าเกณฑ์ 2 ใน 3 ประการก็จะถูกรวมอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตาของสหรัฐโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกณฑ์ทั้ง 3 ประการนั้นได้แก่ มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์, มีดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศทั่วโลกสูงกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีการซื้อสกุลเงินต่างประเทศสุทธิแบบทางเดียว (one-way net foreign exchange purchases) ในอัตราส่วนอย่างน้อย 2% ของตัวเลข GDP เป็นเวลานานกว่า 12 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ