ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของภาคธนาคารในวันพุธ (26 มิ.ย.) โดยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ทั้ง 31 แห่งของสหรัฐสามารถรับมือกับเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาศักยภาพในการปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าและภาคเอกชน
เฟดระบุว่า ธนาคารทั้ง 31 แห่งจะมีเงินทุนเพียงพอในการรองรับการขาดทุน และยังคงสามารถปล่อยเงินกู้ได้ในช่วงเวลา 2 ปีภายใต้สถานการณ์ที่อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 10%, ราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทรุดตัวลง 40% และตลาดหุ้นร่วงลง 55%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เฟดได้ทำการจำลองสถานการณ์การขาดทุนของภาคธนาคาร ซึ่งพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการขาดทุนรวมกัน 6.85 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการขาดทุนจากธุรกิจบัตรเครดิตจำนวน 1.75 แสนล้านดอลลาร์, ขาดทุนจากการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจจำนวน 1.42 แสนล้านดอลลาร์ และขาดทุนเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์จากการปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
ผลทดสอบระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐซึ่งได้แก่ เจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะมีเงินทุนกันชน (capital buffers) เกือบ 2 เท่าของข้อกำหนดขั้นต่ำที่เฟดกำหนดไว้ที่ 4.5% ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรงดังกล่าว
นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดฝ่ายกำกับดูแลภาคธนาคารเปิดเผยว่า "ผลการทดสอบในปีนี้แสดงให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตนั้น ธนาคารรายใหญ่จะขาดทุนรวมกันเกือบ 6.85 แสนล้านดอลลาร์ แต่ถึงกระนั้น ธนาคารเหล่านี้ก็ยังมีเงินทุนมากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของเรา ... นี่เป็นข่าวดีและเป็นการย้ำให้เห็นถึงประโยชน์ของการที่ธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งสำรองเงินทุนพิเศษเอาไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา"