ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุสำคัญ อาทิ แร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่มีอิทธิพลมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของทั้งสามประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ทั้งสามฝ่ายได้มีมติร่วมกันในการกระชับความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการส่งออก การวิจัย และการพัฒนามาตรฐานสากล
"ความตั้งใจร่วมกันของเราคือ การใช้กลไกไตรภาคีนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของเรา" นายเคน ไซโตะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น, นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และนายอัน ด็อกกึน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ ระบุในแถลงการณ์ร่วม
แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อจีนโดยตรง แต่ทั้งสามประเทศเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด "เพื่อหาจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและแนวปฏิบัติที่ไม่ใช่ตลาดเสรี"
ทั้งสามประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับ "การนำภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นอาวุธ โดยเฉพาะในแหล่งอุปทานบางแห่งสำหรับสินค้าเชิงยุทธศาสตร์"
ในขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว จีนได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่สำคัญต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยอ้างเหตุผลด้าน "ความมั่นคงของชาติ"
นายไซโตะ นางไรมอนโด และนายอัน ระบุว่า ทั้งสามประเทศมีแผนที่จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแบบเดียวกันนี้เป็นประจำทุกปีในอนาคต การประชุมครั้งแรกนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้ครอบคลุมมากกว่าประเด็นความมั่นคงแบบดั้งเดิม
ทิศทางนโยบายดังกล่าวได้รับการยืนยันเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสามฝ่ายในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ร่วมกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้
หลังเสร็จสิ้นการประชุมไตรภาคีครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายไซโตะกล่าวในการแถลงข่าวว่า นี่เป็น "ก้าวสำคัญอย่างยิ่ง" สำหรับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันกับญี่ปุ่น ในการพยายามร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง
นายไซโตะเปิดเผยว่า ก่อนการประชุมหารือ นางมาร์เกรท เวสทาเกอร์ รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรปด้านนโยบายการแข่งขัน ได้เข้าร่วมประชุมสี่ฝ่ายผ่านทางออนไลน์ด้วย
นอกจากนี้ นายไซโตะยังได้พบปะหารือทวิภาคีกับนายอันและนางไรมอนโด และเข้าร่วมงานที่มีองค์กรธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของทั้งสามประเทศ โดยองค์กรเหล่านั้นได้ลงนามข้อตกลงเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน
นายไซโตะกล่าวถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์โลก เช่น วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ระหว่างการหารือกับนายอัน โดยระบุว่า ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ "มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการพัฒนาและเสถียรภาพของภูมิภาค"
ขณะเดียวกัน นายอันกล่าวว่า ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านควร "บรรลุผลสำเร็จ" ในด้านพลังงานไฮโดรเจนและแหล่งพลังงานใหม่ ๆ แร่ธาตุสำคัญ และการค้า