ที. โรว์ ไพรซ์ (T. Rowe Price) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไต้หวันทำผลงานแข็งแกร่งที่สุดในเอเชียแปซิฟิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากความนิยมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ส่วนตลาดหุ้นไทยทำผลงานย่ำแย่ที่สุด รอลงมาคือตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์
ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันทะยานขึ้นแข็งแกร่งกว่า 28% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ AI โดยหุ้นไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปสัญญาจ้างรายใหญ่และเป็นหุ้นที่มีน้ำหนักมากในตลาดหุ้นไต้หวัน พุ่งขึ้น 63% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่หุ้นฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ทะยานขึ้น 105% ในช่วงเวลาเดียวกัน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นายราหุล โกช ผู้เชี่ยวชาญด้านพอร์ตหุ้นระดับโลกของบริษัท ที. โรว์ ไพรซ์ ระบุในรายงานแนวโน้มการลงทุนของบริษัทว่า "ผลงานของตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยกระแสการตอบรับ AI และนโยบายของธนาคารกลาง และเราคาดว่าแรงขับเคลื่อนเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไป"
นายโกชยังกล่าวด้วยว่า ศักยภาพและขนาดของวงจรการลงทุนด้าน AI จะยังคงเป็นแรงผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับกล่าวว่าการลงทุนด้าน AI กำลังสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังภาคส่วนอื่น ๆ เช่นภาคส่วนอุตสาหกรรม วัตถุดิบ และสาธารณูปโภค
ส่วนดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำผลงานแข็งแกร่งเป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิก หลังจากพุ่งขึ้นทะลุสถิติสุงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้งในปีนี้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นราว 18%
ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นทะลุสถิติสูงสุดในรอบ 34 ปี และทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ที่ระดับ 38,915.87 จุดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2532 หลังจากนั้น ดัชนีนิกเกอิทะยานขึ้นเหนือแนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 40,000 จุด และปิดตลาดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่ที่ 40,888.43 จุดเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ปีนี้
ส่วนดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทยร่วงลง 8% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยทำผลงานย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองลงมาคือดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียร่วงลง 2.88% และดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปรับตัวลง 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียกำลังจับตาการตัดสินใจครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยปกติการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเอเชียมักจะเป็นไปในทางเดียวกันกับเฟด
ในช่วงปลายปี 2566 คณะกรรมการเฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ แต่ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) นั้น เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็น 0.75% ในปีนี้
สำหรับตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิกที่ทำผลงานดีที่สุดและย่ำแย่ที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีดังนี้
1. ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน +28.45% 2. ดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น +17.56% 3. ดัชนี Nifty 50 ตลาดหุ้นอินเดีย +10.49% 4. ดัชนี BSE Sensex ตลาดหุ้นอินเดีย +9.4% 5. ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย +9.31% 6. ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ +5.37% 7. ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกง +3.94% 8. ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ +2.89% 9. ดัชนี ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย +2.33% 10. ดัชนี CSI 300 ตลาดหุ้นจีน +0.89% 11. ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ -0.59%
12. ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย -2.88%
13. ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย -8.11%