นักวิเคราะห์เปิดเผยว่า จำนวนประชากรจีนกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้แรงงานมีจำนวนลดลง และสร้างแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายการคลังในที่สุด
นายดาร์เรน เทย์ หัวหน้าฝ่ายความเสี่ยงของประเทศในเอเชีย บริษัทบีเอ็มไอ (BMI) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Squawk Box Asia" ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี เมื่อเดือนมิ.ย. โดยอ้างอิงข้อมูลประชากรโลกที่เผยแพร่โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่า "ประชากรวัยทำงานในจีนจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษหน้า และเศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับการเติบโตของ GDP ที่ลดลง 1% ต่อปี ตลอด 10 ปีข้างหน้า"
ขณะเดียวกัน อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit หรือ EIU) เตือนว่า "ความตึงเครียดทางการคลังอันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยเป็นประเด็นเร่งด่วนและน่ากังวล"
"การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับผลผลิต การสะสมทุน และแรงงาน ผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่ไม่พึงประสงค์จะปรากฏชัดผ่านจำนวนแรงงานที่ลดลง"
EIU ระบุว่า การเพิ่มอายุเกษียณถือเป็น "หนึ่งในไม่กี่ทางเลือกที่เป็นไปได้" เพื่อรักษาดุลการคลังในระยะยาว
"จากการคำนวณของเราชี้ให้เห็นว่า หากอายุเกษียณเพิ่มขึ้นเป็น 65 ปี ภายในปี 2578 การขาดแคลนงบบำนาญอาจลดลง 20% และอาจได้รับเงินบำนาญสุทธิเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งจะช่วยการบรรเทาภาระของทั้งภาครัฐและภาคครัวเรือน"
ทั้งนี้ อัตราการเกิดกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะมีลูกช้าหรือไม่มีลูกเลย