สหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1.3 พันล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนหนึ่ง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่คาดว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องรับมือมากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรนี้ โดยจะมีผู้สูงอายุจำนวนกว่า 170 ล้านคน หรือคิดเป็น 22% ของประชากรในภูมิภาค
ประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ และไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมของผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว
ประชากรของสิงคโปร์กำลังกลายเป็นผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2553 ประมาณ 10% ของพลเมืองมีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ภายในปี 2565 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 18.4% และคาดว่า ในเวลาไม่ถึง 6 ปี สิงคโปร์ซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 6 ล้านคนนั้น จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 900,000 คน
มาเลเซียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอย่างมาก เนื่องจากประชากรมีอายุมากขึ้น โดยข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้อยู่อาศัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 7.4% ในปีที่แล้ว หรือประมาณ 2.5 ล้านคน
ทั้งนี้ ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะกลายเป็นผู้สูงวัย ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญนั้นถือว่าน่ากังวลเป็นพิเศษ
ธนาคารโลกประมาณการว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า คนไทยประมาณ 2.5 ล้านคนจะมีอายุ 80 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มที่จะต้องการการดูแล
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ครอบครัวและโครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิมได้เข้ามาช่วยเหลือผู้สูงอายุในที่ที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ แต่ในขณะนี้บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่และการลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่คนรุ่นใหม่มุ่งมั่นทำตามความปรารถนาของตนเอง ทำให้ผู้วางแผนของรัฐบาลต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีขนาดใหญ่เกินคาด