ข้อมูลจากดีลอยท์ (Deloitte) บ่งชี้ว่า การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) หรือมาร์เก็ตแคป ดิ่งลง 71% แตะที่ระดับ 5.8 พันล้านดอลลาร์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การทำ IPO ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งปีแรกมีอยู่เพียง 67 ครั้ง หรือลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และการระดมทุนจากการทำ IPO ดังกล่าวลดลง 53.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 1.4 พันล้านดอลลาร์
ดีลอยท์ระบุว่า ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ไม่มีการทำ IPO ครั้งใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงการทำ IPO ขนาดใหญ่ 1 ครั้งซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์และระดมทุนได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีการทำ IPO ขนาดใหญ่จำนวน 3 ครั้งและในแต่ละครั้งระดมทุนได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ดีลอยท์ระบุว่า ทิศทางขาลงเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และทิศทางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศในตลาด IPO ซบเซาลง ขณะที่นักลงทุนและบริษัทที่มีแผนทำ IPO ยังคงประเมินปัจจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค
นางเทย์ ฮวี หลิง หัวหน้าฝ่ายบัญชีและการรับรองรายงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของดีลอยท์กล่าวว่า "แม้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางบวกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวสูงขึ้น แต่ภาวะไร้เสถียรภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และสภาพแวดล้อมของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะในตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของดีลอยท์เตือนว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงอาจจะยืดเยื้อต่อไปในปี 2567 เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ