สำนักข่าว CNBC รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายพอล ลี นักธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซวัย 28 ปี ซึ่งได้ยอมทิ้งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อมาอาศัยในกรุงเทพฯ
นายลีเป็นชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเติบโตมาจากรัฐจอร์เจียของสหรัฐ ก่อนที่จะไปอาศัยในกรุงนิวยอร์ก เขามีรายได้ราว 1 ล้านดอลลาร์/ปี หรือราว 36,416,000 บาทจากการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
แต่แม้จะมีรายได้ดีเช่นนี้ นายลีกล่าวว่า เขาพบว่าเขากลายเป็นคนไร้เป้าหมาย รู้สึกซึมเศร้า และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ในเดือนเม.ย.2564 นายลีได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และหลังจากนั้นเพียง 5 เดือน เขาก็ได้ตัดสินใจทิ้งสหรัฐอเมริกาไว้เบื้องหลัง เพื่อมาพักอาศัยอย่างถาวรในประเทศไทย
"ครั้งแรกที่ผมเดินทางมายังประเทศไทย ผมรู้สึกกระชุ่มกระชวย ทุกสิ่งล้วนแปลกใหม่สำหรับผม และผมก็รู้สึกว่านี่คือการเริ่มต้นใหม่"
"และเมื่อผมยิ่งอยู่ที่นี่นานเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งตกหลุมรักมากขึ้นต่อเมืองนี้" นายลีกล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ นายลีมีรายได้ราว 150,000 ดอลลาร์/ปี หรือราว 5,460,000 บาท จากการเป็นคนสร้างคอนเทนต์ และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
การเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ทำให้นายลีค้นพบที่อยู่อาศัยที่หรูหราในกรุงเทพฯ โดยขณะนี้เขาพักอาศัยในอพาทเมนท์แห่งหนึ่งในย่านทองหล่อ ซึ่งนายลีขนานนามว่าเป็น "ย่านโซโหแห่งกรุงเทพฯ"
ห้องพักของนายลีมี 1 ห้องนอนพร้อมเฟอร์นิเจอร์ และมีพื้นที่ 650 ตารางฟุต โดยเขาจ่ายค่าเช่า 20,000 บาท/เดือน ค่าเน็ตไวไฟอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ ค่าไฟฟ้า 80 ดอลลาร์ และค่าน้ำ 3 ดอลลาร์ ซึ่งเขาสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส รวมทั้งการทำงานในส่วน co-working space
นอกจากนี้ นายลียังต้องจ่ายเงินมัดจำคิดเป็นค่าเช่าจำนวน 2 เดือนล่วงหน้า หรือราว 1,088 ดอลลาร์
นายลีได้กลับไปยังสหรัฐเพียงครั้งเดียวนับตั้งแต่อยู่ที่ประเทศไทย แต่การกลับไปดังกล่าวก็เพื่อเข้าร่วมพิธีแต่งงานของน้องสาวของเขา
"กรุงเทพฯ มีความโดดเด่นสำหรับผม เพราะมันดูเหมือนเป็นมหานคร มีความสนุกมาก และเข้าถึงได้ง่ายในราคาไม่แพง และมีวัฒนธรรมที่ดี โดยที่ผมไม่ต้องปรับตัวมากนัก"
นายลีได้สร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย และการกลับไปยังสหรัฐก็คงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
"ผมต้องผ่านการเดินทางทั้งจากความยากจนและความร่ำรวยเพื่อมาตระหนักว่าความร่ำรวยที่ผมสะสมมานี้ไม่ได้ให้สิ่งที่ผมต้องการจริงๆ และไม่ได้ให้ความพึงพอใจที่ผมกำลังมองหา"
"ในท้ายที่สุด แม้ว่าผมไม่ได้ทำเงินมากเท่ากับที่ผมทำได้ในนิวยอร์ก แต่ผมรู้สึกมีความมั่งคั่งมากกว่าในแง่ของความสุข ในแง่ของความเป็นอยู่ที่ดี และความสงบสุข"
"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถหาได้ในสหรัฐ" นายลีกล่าว