สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าวว่า บรรดาชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เสียงแตกในเรื่องการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน
คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งดูแลนโยบายการค้าของ EU ได้กำหนดอัตราภาษีชั่วคราวไว้ที่ระดับสูงสุดถึง 37.6% สำหรับรถ EV ที่นำเข้าจากจีน โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้จีนที่ให้เงินอุดหนุนแก่กิจการกลุ่มนี้อย่างไม่เป็นธรรม และ EC ได้สอบถามความคิดเห็นจากชาติสมาชิก EU ในรูปแบบการลงคะแนนเสียงหยั่งความนิยม (Advisory Vote) ที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
แหล่งข่าวระบุว่า มีชาติสมาชิก EU โหวตหนุนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว 12 ประเทศ คัดค้าน 4 ประเทศ และงดออกเสียง 11 ประเทศ
ทาง EC มีแนวโน้มจะนำผลโหวตนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการหรือไม่ ในกรณีทางการค้าที่ถูกจับตามากที่สุดของ EU ในปัจจุบัน
หาก EU ตัดสินใจบังคับใช้มาตรการทางภาษีหลังเสร็จสิ้นการสืบสวนแล้ว ชาติสมาชิก EU จะต้องลงคะแนนเสียงที่มีผลผูกพัน ซึ่งมาตรการนี้จะถูกบังคับใช้เว้นแต่จะมี 15 ประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็น 65% ของประชากร EU โหวตคัดค้าน
หากผลโหวตเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงคะแนนเสียงหยั่งความนิยม ภาษีนำเข้าก็จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีผลเป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม การงดออกเสียงเป็นจำนวนมากสะท้อนให้เห็นถึงความลังเลของชาติสมาชิก EU หลายราย แม้กลุ่มที่งดออกเสียงนี้จะตระหนักดีถึงประเด็นของ EC ที่ว่าการค้าต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็เกิดความวิตกด้วยเช่นกันว่าจีนจะออกมาตรการตอบโต้ จนเกิดเป็นสงครามการค้า
ด้านผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนี ซึ่งทำยอดขายในจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว ได้เรียกร้องให้ EU ยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยภาษีนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์จีนอย่างบีวายดี (BYD), จี๋ลี่ (Geely) และเอสเอไอซี (SAIC) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถที่ผลิตในจีนของค่ายรถยนต์ตะวันตกอย่างเทสลา (Tesla) และบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) อีกด้วย
แหล่งข่าวจากรัฐบาลระบุว่า ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ต่างโหวตสนับสนุนการจัดเก็บภาษี ขณะที่เยอรมนี ฟินแลนด์ และสวีเดน งดออกเสียง
แหล่งข่าวจากเยอรมนีระบุว่า เยอรมนีงดออกเสียงเพื่อแสดง "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างมีวิจารณญาณ" กับทาง EC ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตฟินแลนด์กล่าวว่า ฟินแลนด์ยังคงมีข้อกังขาว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อ EU หรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปบางรายก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว
นายโยฮัน ฟอร์สเซลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสวีเดน กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ EC กับจีนต้องมีการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ EC จะดำเนินการสอบสวนเรื่องการให้เงินอุดหนุนค่ายรถ EV จีนอย่างไม่เป็นธรรมต่อไปอีก 3 เดือน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าว 2 รายเปิดเผยว่า EC ส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามินิ (Mini) ของบีเอ็มดับเบิลยูที่ผลิตในจีน และคูปรา ตาวาสกัน (Cupra Tavascan) ของโฟล์คสวาเก้น (Volkswagen)