รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (19 ก.ค.) ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนมี.ค. 2568 คาดว่าจะขยายตัว 0.9% ลดลงจากตัวเลขประมาณการเดิมที่ 1.3% เนื่องจากเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากเรื่องอื้อฉาวในการทดสอบความปลอดภัย
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปรับลดแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือโต 0.5% จากตัวเลขประมาณการเดิมที่ 1.2%
การปรับลดการประเมินตัวเลข GDP ตอกย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องเผชิญเพื่อรักษาการเติบโตที่มีเสถียรภาพ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งการผลิตและการจัดส่งรถยนต์ได้รับผลกระทบจากเรื่องอื้อฉาวที่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นปลอมแปลงข้อมูลเพื่อออกใบรับรองรถยนต์
อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์นี้ยังดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ระบุว่า GDP ที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 0.44%
การปรับขึ้นค่าจ้างนั้นโตไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อ โดยค่าเงินเยนที่ลดลงอย่างมากทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สมาชิกภาคเอกชนเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของครัวเรือน
ทางสมาชิกระบุในข้อเสนอต่อสภาด้านนโยบายเศรษฐกิจและการคลังว่า "เราไม่สามารถมองข้ามผลกระทบของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าและราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของครัวเรือนได้ สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ครัวเรือนลดการใช้จ่าย"
"รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องจัดการนโยบาย ด้วยการติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของเงินเยนอย่างระมัดระวัง" สมาชิกระบุ พร้อมเสริมว่า ลำดับแรกควรเร่งเพิ่มรายได้ของครัวเรือนและส่งเสริมการบริโภค