วิจัยชี้ แจกเงินคนจนในสหรัฐเดือนละพันดอลล์ 3 ปี คนเอาเงินไปซื้อปัจจัย 4, ไม่ลาออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2024 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องการแจกเงินสดโดยตรงให้กับชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว โดยมีโครงการนำร่องมากกว่า 150 โครงการใน 35 รัฐของสหรัฐที่ทดสอบไอเดีย "รายได้พื้นฐาน" (Basic income) แต่หนึ่งในโครงการนำร่องที่ใหญ่ที่สุดมาจากโอเพนรีเสิร์ช (OpenResearch) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากนายแซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งโอเพนเอไอ (OpenAI)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) ว่า หลังจากใช้เวลา 3 ปีในการแจกเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับผู้รับในรัฐอิลลินอยส์และเท็กซัส องค์กรได้เผยแพร่งานวิจัย 3 ฉบับเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบ

เช่นเดียวกับผลการศึกษาอื่น ๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ โอเพนรีเสิร์ชพบว่าผู้รับเงินใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือผู้อื่น และไม่ได้ลาออกจากงาน แม้จะทำงานน้อยลงเล็กน้อยก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่นักวิจัยสรุปได้คือ เงินสดช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต

"เงินสดสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาเฉพาะของผู้รับได้ ปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มโอกาสให้คนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น" นักวิจัยสรุป แต่ชี้ว่าผลลัพธ์แตกต่างกันไปตามรายได้เริ่มต้นของผู้รับ โครงสร้างครอบครัว และสิ่งที่ผู้รับแต่ละคนให้ความสำคัญ

"เงินสดมีความยืดหยุ่น" เอลิซาเบธ โรดส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของโอเพนรีเสิร์ช กล่าว "เงินสดไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำนักหากเป้าหมายของคุณคือการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งให้เหมือนกันหมดทุกคน แต่มันสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางด้านหรือหลายด้านสำหรับแต่ละคนได้"

โครงการนำร่องของโอเพนรีเสิร์ชเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมที่มีรายได้น้อยจำนวน 1,000 คนจากพื้นที่ชนบท ชานเมือง และเมืองในรัฐอิลลินอยส์และเท็กซัส ซึ่งเริ่มได้รับเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีอีก 2,000 คนได้รับเงินเดือนละ 50 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าร่วมการศึกษาในฐานะกลุ่มควบคุม ผู้ได้รับเงินทุกคนมีรายได้อยู่ที่หรือต่ำกว่า 300% ของเส้นความยากจนของรัฐบาลกลาง แต่โดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนของพวกเขามีรายได้ต่ำกว่า 29,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ผลการวิจัยชุดแรกมาจากการแจกเงินตลอดเวลา 3 ปี นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมใช้เงินที่ได้ซื้อสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น อาหาร ค่าเช่า และค่าเดินทาง ไม่ได้เอาไปใช้ซื้อของอบายมุข ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมยังรายงานว่าพวกเขาลดการใช้ยาแก้ปวดที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ และดื่มเหล้าน้อยลงด้วย

โรดส์กล่าวว่า แม้เงินสดจะไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมหรือชดเชยการขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เพียงพอมาเป็นเวลาหลายปีได้ แต่ผู้เข้าร่วมโครงการก็สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลสุขภาพของตนเองได้มากขึ้น โดยมีโอกาสไปพบทันตแพทย์มากขึ้น และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

เมื่อเวลาผ่านไป นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการเริ่มมองการณ์ไกลมากขึ้น โดยจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่ายและเก็บออมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีแผนศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นและมีความคิดที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

"พวกเขาจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นทั้งหมดภายในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาได้หรือไม่นั้น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" โรดส์ยอมรับ พร้อมเสริมว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแล้ว ไม่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของการศึกษาต่อระดับสูงขึ้นหรือโอกาสที่จะเริ่มต้นธุรกิจจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม โรดส์กล่าวว่า ความฝันบางด้านเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตก็เป็นจริงขึ้นมา โดยผู้รับเงินมีแนวโน้มที่จะย้ายบ้านและละแวกบ้านมากกว่ากลุ่มควบคุมถึงกว่า 4% บางคนก็มองหาเขตโรงเรียนที่ดีกว่าเดิม ในขณะที่บางคนสามารถเลิกการใช้ชีวิตแบบขอนอนบ้านคนอื่นไปเรื่อย ๆ และหาที่อยู่เป็นของตัวเองได้

สำหรับคำถามที่ว่าเงินสดที่แจกให้นี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับกับตลาดแรงงานหรือไม่นั้น นักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ โดยรวมแล้ว ทั้งกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐและกลุ่มควบคุมต่างก็ทำงานมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายระยะเวลาการศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการแจกเงินนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสิ้นสุดลงหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสองกลุ่มทำงานในปริมาณเท่ากัน โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่ได้รับเงินเต็มจำนวนเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำงานน้อยลงประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ๆ ต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับเงินเดือนละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวดูเหมือนจะลดชั่วโมงการทำงานลงเล็กน้อย ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการเลือกแบบนี้ทำให้พวกเขาสามารถรับงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้นด้วย

ผู้รับเงินที่เริ่มต้นด้วยรายได้ต่ำสุดใช้เงินสดต่างจากผู้ที่มีรายได้มากกว่า พวกเขาเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือครอบครัวและเพื่อนฝูงมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าที่พักของตนเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แทนที่จะต้องไปอาศัยนอนบ้านเพื่อนหรือพึ่งพาคนอื่นให้จ่ายค่าเช่าให้

อนึ่ง นายอัลท์แมนประกาศให้ทุนสนับสนุนโครงการนี้ในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่โอเพนเอไอเพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน และในขณะนั้นนายอัลท์แมนยังบริหารองค์กรบ่มเพาะสตาร์ตอัปวาย คอมบิเนเตอร์ (Y Combinator) เขาเขียนในเวลานั้นว่าเขา "สนใจ" แนวคิดเรื่องรายได้พื้นฐาน แต่ยังมี "ข้อมูลค่อนข้างน้อยว่ามันจะได้ผลอย่างไร"

นายอัลท์แมนจ้างโรดส์ให้เป็นผู้นำโครงการรายได้พื้นฐานผ่านองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อวายซีรีเสิร์ช (YC Research) ซึ่งดำเนินโครงการนำร่องในโอกแลนด์ตั้งแต่ปี 2559-2561 หลังจากนั้น กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโอเพนรีเสิร์ช และเริ่มรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการมากขึ้นสำหรับการศึกษาขนาดใหญ่ขึ้นในปี 2562 โดยนายอัลท์แมนยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ