กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (G20) บรรลุข้อตกลงเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) ในการร่วมมือกันเพื่อให้แน่ใจว่า กลุ่มอภิมหาเศรษฐีจะถูกเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำประกาศดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามสร้างสมดุลระหว่างการรักษาอำนาจอธิปไตยทางภาษีของแต่ละประเทศ กับการเพิ่มความร่วมมือในการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำประกาศดังกล่าวซึ่งจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันนี้ (26 ก.ค.) ถือเป็นประเด็นสำคัญของบราซิลในฐานะประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุม G20 ในปีนี้ โดยประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิลซึ่งเป็นอดีตคนงานในโรงงาน พยายามผลักดันให้บรรจุเรื่อง "ภาษีอภิมหาเศรษฐี" (billionaire tax) เข้าไปในวาระการประชุม G20
"ด้วยความเคารพในอธิปไตยทางภาษีของแต่ละประเทศ เราจะร่วมมือกันเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มบุคคลที่มีทรัพย์สินมหาศาลจะถูกเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ" ข้อความส่วนหนึ่งจากคำประกาศด้านภาษีของ G20 ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เห็น ระบุ
"ความร่วมมือนี้อาจรวมถึงการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด การส่งเสริมการอภิปรายเกี่ยวกับหลักการทางภาษี และการออกแบบกลไกต่อต้านการหลบเลี่ยงภาษี รวมทั้งการจัดการกับแนวปฏิบัติทางภาษีที่อาจส่งผลเสียต่าง ๆ" คำประกาศระบุ
ทั้งนี้ บราซิลได้จุดประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งในอัตรา 2% สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บภาษีได้สูงถึงปีละ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอภิมหาเศรษฐีประมาณ 3,000 คน
"สิ่งที่ทำในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่กว้างขวางกว่านี้ ซึ่งจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์และเวลา เช่น OECD และสหประชาชาติ" นายเฟอร์นันโด ฮัดดาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิล กล่าวกับผู้สื่อข่าว
แม้ประเทศสมาชิก G20 อื่น ๆ จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าการนำข้อตกลงนี้ไปปฏิบัติจริงคงไม่ใช่เรื่องง่าย
"เราทุกคนทราบดีว่าเรากำลังเริ่มต้นกระบวนการที่ท้าทายอย่างมาก" นายเปาโล เจนติโลนี กรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป กล่าวนอกรอบการประชุม G20
"ก้าวแรกคือการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องหารือกันในอีกหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า"
นอกจากนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ แสดงความชื่นชมต่อเจตนารมณ์ของการหารือเกี่ยวกับคำประกาศดังกล่าว แต่ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีระดับโลกรูปแบบใหม่ โดยระบุว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้เสนอนโยบายหลายประการในเรื่องนี้อยู่แล้ว รวมถึง "ภาษีอภิมหาเศรษฐี"
"เราคิดว่า ... เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ประเทศส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า และเรายินดีที่จะร่วมมือกับบราซิลในเรื่องนี้และเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ในกลุ่ม G20" นางเยลเลนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในการประชุม G20
"แต่นโยบายภาษีเป็นเรื่องยากมากที่จะประสานงานกันทั่วโลก และเราไม่เห็นความจำเป็นหรือคิดว่าเป็นการสมควรที่จะต้องเจรจาข้อตกลงระดับโลกในเรื่องนี้ เราคิดว่าทุกประเทศควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบภาษีของตนมีความยุติธรรมและเป็นแบบอัตราก้าวหน้า"
ทั้งนี้ "ภาษีอภิมหาเศรษฐี" จะมุ่งเป้าไปที่บรรดาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น นายอีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลา (Tesla) และสเปซเอ็กซ์ (Space X) ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประเมินว่ามีทรัพย์สินประมาณ 2.35 แสนล้านดอลลาร์ หรือนายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าของอะเมซอน (Amazon) ที่มีทรัพย์สินประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือนายแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าพ่อธุรกิจสินค้าหรูชาวฝรั่งเศส ที่มีทรัพย์สินประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์
ข้อมูลจากองค์กรการกุศลอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ระบุว่า กลุ่มคนรวย 1% บนสุดของโลกสะสมความมั่งคั่งใหม่ได้ 42 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าความมั่งคั่งของประชากร 50% ล่างของโลกเกือบ 34 เท่า ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
อ็อกซ์แฟมระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มคนรวย 1% บนสุดเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ดอลลาร์ในแง่ของมูลค่าที่แท้จริง ในขณะที่ความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อคนของกลุ่มคน 50% ล่าง เพิ่มขึ้นเพียง 335 ดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้นไม่ถึงวันละ 9 เซ็นต์