กรรมการทั้ง 9 คนของ BOJ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ว่า ต้นทุนการนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น อาจจะผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากรรมการ BOJ เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา BOJ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี จากเดิมที่ระดับ 0%-0.1% และประกาศแผนลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หลังจากที่ใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานานถึง 10 ปี
การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. รวมทั้งการที่นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวภายหลังการประชุมวันดังกล่าวว่า BOJ จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก ประกอบกับสัญญาณที่บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนพุ่งขึ้นอย่างมากและเป็นเหตุให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก
ทั้งนี้ รายงาน Summary of Opinions ยังระบุด้วยว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า "แม้ว่า BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนก.ค. แต่ก็ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนระดับของนโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไปตามความเหมาะสม หากบริษัทต่าง ๆ ยังคงปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าจ้าง และเพิ่มการใช้จ่ายประเภททุน"
ขณะที่กรรมการคนหนึ่งเรียกร้องให้ BOJ เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและในเวลาที่เหมาะสม โดยระบุว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือระดับของต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือร้อนแรงมากเกินไปนั้น ควรจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1%