กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียกำลังเริ่มต้นเจรจากับบริษัทโบอิ้งและแอร์บัส เพื่อจัดหาเครื่องบินขนส่งสินค้าสำหรับสายการบินใหม่ โดยความเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะผลักดันประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์
แหล่งข่าววงในผู้ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในวันนี้ (20 ส.ค.) ว่า สายการบินขนส่งสินค้าแห่งใหม่นี้จะให้บริการแก่สายการบินแห่งชาติซาอุเดีย และสายการบินน้องใหม่อย่างริยาดแอร์
แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า ตอนนี้กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (PIF) กำลังเจรจากับทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและบริษัทให้เช่าเครื่องบิน เพื่อจัดหาเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่นโบอิ้ง 777 และแอร์บัส A350
ขณะนี้การเจรจายังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีการตัดสินใจอะไรเป็นที่แน่นอน โดยทางกองทุนอาจจะเลื่อนหรือล้มเลิกแผนนี้ไปเลยก็เป็นได้
ซาอุดีอาระเบียและประเทศคู่แข่งในอ่าวเปอร์เซีย ต่างกำลังแสวงหาโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ในฐานะจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างยุโรป เอเชีย และแอฟริกา โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่มีการเติบโตมากกว่า 10% และมีแนวโน้มว่าปริมาณการขนส่งจะทำลายสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2564 อีกด้วย
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของซาอุฯ ที่จะกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้พ้นจากการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยซาอุฯ ได้หันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบิน และโลจิสติกส์มากขึ้น
ที่ผ่านมานั้น ซาอุฯ ได้ก่อตั้งบริษัทให้เช่าเครื่องบินและบริษัทเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งลงทุนในแผนกวิศวกรรมของสายการบินซาอุเดีย และยังมีโครงการที่จะสร้างสนามบินขนาดใหญ่ติดอันดับโลกในเมืองหลวงอีกด้วย
ทั้งนี้ สายการบินริยาดแอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ PIF ตั้งขึ้นมานั้น กำลังพยายามสร้างเครือข่ายเส้นทางบินของตัวเอง และท้าชนกับสายการบินยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่างเอมิเรตส์และกาตาร์แอร์เวย์
ปัจจุบัน สายการบินเอมิเรตส์ที่มีฐานอยู่ที่ดูไบ มีเครื่องบินขนส่งสินค้าอยู่ 14 ลำ และวางแผนจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่าเท่าตัวในทศวรรษหน้า ส่วนกาตาร์แอร์เวย์นั้นมีเครื่องบินขนส่งสินค้าอยู่แล้วถึง 28 ลำ
ด้านสายการบินซาอุเดียที่มีฐานอยู่ที่เมืองเจดดาห์ กำลังหันมาเน้นให้บริการผู้เดินทางไปแสวงบุญทางศาสนาเป็นหลัก ส่วนการขนส่งสินค้าที่ซาอุเดียดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าววงในระบุว่าจะถูกผนวกรวมเข้ากับสายการบินขนส่งสินค้าใหม่นี้ด้วย
เมื่อปีที่แล้ว ซาอุเดียกับริยาดแอร์ได้จับมือกันสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ รวม 78 ลำ ซึ่งทำเนียบขาวประเมินมูลค่าดีลนี้ไว้สูงถึงเกือบ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่กองทุน PIF จะเข้าซื้อกิจการของสายการบินซาอุเดียได้เร็วที่สุดในปี 2568