ออสเตรเลียได้บังคับใช้กฎหมาย "สิทธิตัดการเชื่อมต่อ" ในวันนี้ (26 ส.ค.) โดยอนุญาตให้พนักงานมีสิทธิ์ที่จะไม่ตอบอีเมล รับสาย หรืออ่านข้อความใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ส่งมานอกเวลาทำงานปกติ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ เพื่อแก้ปัญหางานที่รุกล้ำเข้ามาในเวลาส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคดิจิทัลเช่นนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ฝ่ายสนับสนุนชี้ว่า กฎหมายนี้จะช่วยให้คนทำงานกล้าที่จะปฏิเสธการติดต่อเรื่องงานนอกเวลาทำการมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบ้านกับที่ทำงานแทบจะหายไป
อย่างไรก็ดี ในกรณีฉุกเฉินหรืองานที่มีเวลาเข้างานไม่แน่นอน กฎหมายนี้อนุญาตให้นายจ้างยังคงสามารถติดต่อลูกจ้างได้ โดยลูกจ้างมีสิทธิ์ปฏิเสธได้เฉพาะในกรณีที่เห็นว่าสมเหตุสมผลเท่านั้น
ส่วนการพิจารณาว่าการปฏิเสธนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการการจ้างงานที่เป็นธรรม (FWC) ซึ่งต้องพิจารณาจากบทบาทของลูกจ้าง สถานการณ์ส่วนบุคคล ตลอดจนเหตุผลและวิธีการที่นายจ้างติดต่อ
FWC มีอำนาจออกคำสั่งให้ยุติการกระทำ และหากฝ่าฝืนก็สามารถสั่งปรับได้ โดยพนักงานอาจโดนปรับสูงสุด 19,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนบริษัทอาจโดนปรับหนักถึง 94,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมออสเตรเลีย (Australian Industry Group) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนนายจ้าง ออกมาแสดงความเห็นว่า ความกำกวมในการบังคับใช้กฎหมายนี้จะสร้างความสับสนให้กับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง การทำงานจะขาดความยืดหยุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย
"กฎหมายนี้ออกมาแบบไม่ทันตั้งตัว แทบไม่มีการหารือกันถึงผลกระทบในทางปฏิบัติ และนายจ้างมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก" กลุ่มดังกล่าวแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ส.ค.)
มิเชล โอนีล ประธานสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย ชี้ว่า ข้อกำหนดในกฎหมายระบุชัดเจนว่า ลูกจ้างยังคงต้องตอบสนองต่อการติดต่อที่สมเหตุสมผล เพียงแต่ลูกจ้างจะไม่ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการวางแผนงานไม่ดีของฝ่ายบริหารอีกต่อไป
โอนีลยกตัวอย่างกรณีของพนักงานรายหนึ่งซึ่งเลิกงานตอนเที่ยงคืน แต่หลังจากนั้น กลับได้รับข้อความตอนตี 4 เพื่อเรียกตัวให้กลับไปทำงานตอน 6 โมงเช้า
"เดี๋ยวนี้ติดต่อกันง่าย เลยไม่ค่อยใช้สามัญสำนึกกันแล้ว" เธอกล่าว "เราเชื่อว่ากฎหมายนี้จะทำให้เจ้านายฉุกคิดก่อนจะส่งข้อความหรืออีเมลหาลูกจ้าง"