อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำมันปาล์มได้น้อยลง เนื่องจากผลกระทบของสภาพอากาศแห้งแล้งและต้นปาล์มที่มีอายุมาก โดยอินโดนีเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก และสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันปาล์มทั่วโลกตึงตัวและทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียและคณะกรรมการน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันปาล์มในปี 2567 อาจจะทรงตัว หรือลดลงมากถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียและคณะกรรมการน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มนั้น ต่างก็เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มจะปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านสหรัฐฯ ประมาณการว่า ปริมาณน้ำมันปาล์มสำรองทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านอุปทานเช่นกัน อันเนื่องมาจากต้นปาล์มที่มีอายุมากและการขาดแคลนแรงงาน โดยน้ำมันปาล์มนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่สบู่ไปจนถึงไอศกรีมและเชื้อเพลิง
ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียระบุว่า อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 54.84 ล้านตันในปี 2566 หลังจากผลผลิตลดลงติดต่อกัน 3 ปี ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งรู้จักกันในชื่อ Gapki ประมาณการผลผลิตน้ำมันปาล์มในปีนี้เอาไว้ที่ 52 - 53 ล้านตัน
เอ็ม ฮาดี ซูเก็ง เลขาธิการของกลุ่ม Gapki กล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกต้นปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซียนั้น มีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติในเดือนก.ค. ซึ่งรวมถึงสุมาตราและพื้นที่บางส่วนของกาลิมันตัน โดยเขาคาดการณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไปในเดือนนี้
นอกจากนี้ ซาฮัต สินากา รักษาการประธานคณะกรรมการน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย กล่าวว่า ต้นปาล์มที่อายุมากขึ้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้สำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากของอินโดนีเซียนั้น สวนปาล์มของพวกเขามีอายุมากกว่า 25 ปี และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต
สินากาเผยว่า การผลิตผลปาล์มสดลดลงเหลือเพียง 700 กิโลกรัมต่อ 1 เฮกตาร์ในบางพื้นที่ จากเดิมที่ผลิตได้ 830 กิโลกรัม โดยคณะกรรมการฯ ประมาณการว่าผลผลิตปาล์มสดของอินโดนีเซียในปีนี้จะลดลง 3% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น