สื่อญี่ปุ่นตีข่าว โตโยต้าจับมือ BMW ร่วมพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2024 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) และบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) เตรียมยกระดับความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเป็นยานยนต์รักษ์โลกแห่งอนาคต โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังชะลอตัว โดยบีเอ็มดับเบิลยูตั้งเป้าเริ่มผลิตรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทมีกำหนดลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อยืนยันความร่วมมือในสัปดาห์หน้า และจะประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชนของบีเอ็มดับเบิลยูวันที่ 5 ก.ย.นี้

สำหรับรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงนั้น ทำงานด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจน โดยปล่อยเพียงน้ำออกมาระหว่างการผลิตพลังงาน ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "สุดยอดยานยนต์รักษ์โลก" นอกจากนี้ รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงยังใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิงน้อยกว่ารถ EV อีกด้วย

อนึ่ง ทั้งสองบริษัทมีความร่วมมือด้านรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2555 แล้ว แต่ในช่วงนั้น โดยโตโยต้ามีบทบาทเพียงจัดหาชิ้นส่วนบางรายการในจำนวนจำกัดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความร่วมมือที่จะยกระดับขึ้นนี้ โตโยต้าจะจัดหาชิ้นส่วนสำคัญให้แก่บีเอ็มดับเบิลยูมากขึ้น รวมถึงถังไฮโดรเจนและระบบเซลล์เชื้อเพลิง จากนั้นบีเอ็มดับเบิลยูจะใช้เทคโนโลยีรถ EV ที่พัฒนาขึ้นเอง เช่น ระบบขับเคลื่อน เพื่อผลิตส่วนประกอบที่เหลือของรถยนต์

ที่ผ่านมา บีเอ็มดับเบิลยูได้พัฒนารถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงต้นแบบ ชื่อ iX5 Hydrogen ซึ่งติดตั้งถังไฮโดรเจนสองถัง มีระยะทางวิ่งไกลกว่า 500 กิโลเมตร และสามารถเติมเชื้อเพลิงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 3-4 นาที รถยนต์ต้นแบบนี้พัฒนาต่อยอดจากรถ SUV รุ่น X5 ของบีเอ็มดับเบิลยู

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูตั้งเป้าเริ่มผลิต iX5 Hydrogen จำนวนมากภายในไม่กี่ปีข้างหน้า การนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงของโตโยต้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบจะช่วยให้บีเอ็มดับเบิลยูลดต้นทุนในการพัฒนาและการผลิตได้

ในส่วนของโตโยต้านั้น บริษัทถือเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก โดยได้เปิดตัวรุ่น Mirai ในปี 2557 ก่อนคู่แข่งทั่วโลก

ถึงกระนั้น เนื่องจากราคาของ Mirai ในญี่ปุ่นสูงกว่า 7 ล้านเยน รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงจึงยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคมากนัก ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าและบีเอ็มดับเบิลยูจึงมุ่งหวังที่จะลดราคารถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงโดยการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีต้นทุนสูงร่วมกัน

ขณะเดียวกัน กระแสสนับสนุนรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงกำลังมาแรงในขณะที่การเติบโตของรถ EV ชะลอตัวลง โดยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) ได้เปิดตัวรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการกลับลำจากที่เคยตัดสินใจถอนตัวจากการผลิตรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงในปี 2564

นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยูยังมีแผนที่จะเพิ่มรุ่นรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงให้หลากหลายในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2030 หลังจากเปิดตัว iX5 Hydrogen

ความร่วมมือที่ยกระดับขึ้นนี้คาดว่าจะครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดหาไฮโดรเจนในยุโรปด้วย ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป (ACEA) ระบุว่า ปัจจุบันมีสถานีเติมไฮโดรเจนเพียง 270 แห่งทั่วยุโรป ซึ่งน้อยกว่าสถานีชาร์จรถ EV สาธารณะในสหภาพยุโรปที่มีจำนวนถึง 632,000 แห่ง ณ สิ้นปี 2566


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ