ลิเบียวิกฤตหนัก ความขัดแย้งการเมืองส่งผลระงับการผลิตน้ำมันมากกว่าครึ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2024 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ลิเบียระงับการผลิตน้ำมันมากกว่าครึ่งหนึ่งภายในประเทศ หรือประมาณ 700,000 บาร์เรล/วัน เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) และได้ระงับการส่งออกน้ำมันที่ท่าเรือหลายแห่ง อันเนื่องมาจากการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง โดยรัฐบาลลิเบียตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบงกาซีมีความขัดแย้งกับรัฐบาลลิเบียที่ตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีในประเด็นที่ว่า ฝ่ายใดควรมีอำนาจในการควบคุมธนาคารกลางลิเบียและรายได้จากน้ำมัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเสี่ยงทำให้ช่วงเวลาแห่งสันติภาพที่ดำเนินมายาวนานถึง 4 ปีในลิเบียต้องสิ้นสุดลง

บริษัทเนชันแนล ออยล์ คอร์ปอเรชั่น (NOC) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียและควบคุมแหล่งน้ำมันภายในประเทศ เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า การผลิตน้ำมันเฉลี่ย ณ วันพุธที่ 28 ส.ค. อยู่ที่ระดับ 591,024 บาร์เรล ลดลงอย่างมากจากเดือนก.ค. ที่ลิเบียผลิตน้ำมันได้ในปริมาณ 1.18 ล้านบาร์เรล/วัน

NOC ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ลิเบียสูญเสียการผลิตน้ำมันรวม 1,504,733 บาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120 ล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากบ่อน้ำมันหลายแห่งถูกปิด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วิกฤตการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการควบคุมธนาคารกลางของลิเบียได้ส่งผลให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพครั้งใหม่ภายในประเทศ โดยลิเบียมีรัฐบาลที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่างรัฐบาลฝ่ายตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเบงกาซี และรัฐบาลฝ่ายตะวันตกซึ่งตั้งอยู่ในกรุงตริโปลีและได้รับการสนับสนุนจากตุรกีและรัสเซีย

รัฐบาลฝ่ายตะวันออกของลิเบียประกาศว่าจะเดินหน้าระงับการผลิตน้ำมันต่อไปจนกว่าสภาประธานาธิบดีและรัฐบาลแห่งชาติที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติในกรุงตริโปลี จะนำซาดิก อัล-คาบีร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางคนเดิมกลับเข้าสู่ตำแหน่ง

ทั้งนี้ เสถียรภาพของลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ลดน้อยลงนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลุกฮือที่ได้รับสนับสนุนจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่อโค่นล้มอำนาจเผด็จการของมูอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2554 ก่อนจะมีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกในปี 2557

ภาวะชะงักงันด้านการผลิตน้ำมันในลิเบียเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (29 ส.ค.) โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวในลิเบียจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเผชิญภาวะตึงตัว โดยราคาน้ำมัน WTI ส่งมอบเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 1.87% ปิดที่ 75.91 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันเบรท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.64% ปิดที่ 79.94 ดอลลาร์/บาร์เรล


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ