สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (2 ก.ย.) โดยนำเสนอเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ชาวจีนจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการว่างงานครั้งใหญ่ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน ขณะที่บางส่วนหันมาปรับตัวด้วยการเป็นฟรีแลนเซอร์
เหอ อาจุน วัย 32 ปี อดีตครูในสถาบันกวดวิชาเอกชนที่ต้องลาออกจากงานเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากนโยบายปราบปรามธุรกิจกวดวิชาของรัฐบาลจีน กลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะ "อินฟลูเอนเซอร์คนว่างงาน"
วล็อกเกอร์สาวจากเมืองกว่างโจวผู้นี้ได้แชร์ประสบการณ์การว่างงานอันยาวนาน พร้อมให้คำแนะนำด้านอาชีพแก่ผู้ติดตามกว่า 8,400 คน เธอยังเคยโพสต์ข้อความเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่า "ว่างงานตอนอายุ 31 ชีวิตยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลยสักอย่าง"
ปัจจุบัน เหอมีรายได้ราว 5,000 หยวนต่อเดือน จากการรับโฆษณาในวล็อก ตัดต่อคอนเทนต์ ให้คำปรึกษาส่วนตัว และขายงานฝีมือตามแผงลอย
"ฉันคิดว่าในอนาคต งานฟรีแลนซ์จะกลายเป็นเรื่องปกติ" เหอกล่าว "แม้ว่าคุณจะมีงานประจำอยู่แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องมีทักษะฟรีแลนซ์ติดตัวไว้ ฉันเชื่อว่ามันจะเป็นทักษะสำรอง เหมือนกับการขับรถนั่นแหละ"
รัฐบาลจีนกำลังพยายามผลักดัน "พลังการผลิตใหม่" (New productive forces) โดยมีนโยบายมุ่งเน้นไปที่สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉพาะบางด้าน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการแรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ อ่อนแอลง และอาจทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงต้องตกงาน เนื่องจากพวกเขาพลาดโอกาสในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูครั้งก่อน และเรียนจบช้าเกินกว่าจะปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้
ปีนี้มีบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยมากเป็นประวัติการณ์ถึง 11.79 ล้านคน ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนงานอย่างหนัก ท่ามกลางกระแสการปลดพนักงานในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพ "คอปกขาว (white-collar)" เช่น ภาคการเงิน รวมถึงบริษัทชั้นนำอย่างเทสลา (Tesla), ไอบีเอ็ม (IBM) และไบต์แดนซ์ (ByteDance) ที่ประกาศลดจำนวนพนักงานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในเมือง ซึ่งมีอายุระหว่าง 16-24 ปี พุ่งสูงถึง 17.1% ในเดือนก.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมคนว่างงานในชนบทอีกหลายล้านคน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนระงับการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว หลังจากที่ตัวเลขพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% ในเดือนมิ.ย. 2566 และต่อมาได้มีการปรับเกณฑ์การสำรวจใหม่ โดยไม่นับรวมนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่
ปัจจุบัน มีผู้ทำงานในกิ๊กอีโคโนมี (Gig economy) กว่า 200 ล้านคน แต่แม้กระทั่งภาคธุรกิจที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ก็เริ่มประสบปัญหาการมีแรงงานล้นเกิน โดยในปีนี้ มีเมืองใหญ่ในจีนกว่า 12 เมือง ที่ออกมาเตือนถึงภาวะคนขับรถรับจ้างล้นตลาด
กระแสการปลดพนักงานยังลามไปถึงภาครัฐ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น "ชามข้าวเหล็ก" หรืออาชีพที่มั่นคงไปตลอดชีวิต
ปีที่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งประกาศลดจำนวนข้าราชการลง 5% และมีรายงานข่าวว่ามีการปลดพนักงานไปแล้วหลายพันคน ขณะที่มณฑลเหอหนานลดจำนวนตำแหน่งงานลง 5,600 ตำแหน่งในช่วงต้นปีนี้ ส่วนมณฑลซานตงลดตำแหน่งงานไปเกือบ 10,000 ตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่า ผู้จบการศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาของจีนจำนวน 3.9 ล้านคน ส่วนใหญ่มีทักษะที่เหมาะสมกับงานในภาคการผลิตและบริการระดับล่างเท่านั้น อีกทั้งการปฏิรูปที่ประกาศในปี 2565 จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะแก้ปัญหาการลงทุนในด้านการฝึกอบรมวิชาชีพที่ไม่เพียงพอ ซึ่งการศึกษาสายอาชีพถูกมองว่าด้อยกว่าการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลานาน
รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรบุคคลของจีนกล่าวในเดือนมี.ค.ว่า ปัจจุบันจีนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอาชีพช่างเชื่อม ช่างไม้ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และ "บุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง"
เหยา หลู่ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประมาณการว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราว 25% ที่มีอายุระหว่าง 23-35 ปี กำลังทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา
นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งกล่าวว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของจีนเกือบ 48 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ต่ำ และส่งผลให้พวกเขาจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลได้ค่อนข้างน้อยตลอดช่วงชีวิตการทำงาน
"แม้จะไม่ถึงกับเรียกว่าเป็น 'คนรุ่นที่สูญเปล่า' ได้ แต่มันก็เป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อย่างมหาศาล"
ในเดือนพ.ค. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการสร้างงานให้กับบัณฑิตจบใหม่ แต่จากการสัมภาษณ์คนหนุ่มสาว 9 คนโดยรอยเตอร์ พบว่า คนหนุ่มสาวที่ว่างงานหรือเพิ่งถูกไล่ออกต่างรู้สึกสิ้นหวัง
อันนา หวัง วัย 23 ปี ลาออกจากงานธนาคารของรัฐในเซินเจิ้นเมื่อต้นปีนี้ เนื่องจากความกดดันสูงและการทำงานล่วงเวลาบ่อยครั้งโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เธอเล่าว่า "ฉันทำงานหนักเท่ากับคน 3 คน" แต่ได้รับเงินเดือนเพียง 6,000 หยวนต่อเดือน
อดีตเพื่อนร่วมงานของเธอบ่นเรื่องการลดเงินเดือนและการโยกย้ายไปยังตำแหน่งที่มีภาระงานมากเกินไป ซึ่งเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้พนักงานลาออกไปเอง ปัจจุบัน หวัง ทำงานพาร์ทไทม์เป็นคนช่วยตรวจแก้เรซูเม่และงานนักช้อปปริศนา (mystery shopper)
ในการบรรยายสรุปสำหรับนักการทูตต่างประเทศเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประชุมเศรษฐกิจเพื่อกำหนดวาระสำคัญ ผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า ผู้กำหนดนโยบายกล่าวว่า พวกเขาได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ชะลอการเลิกจ้างพนักงาน
โอลิเวีย หลิน วัย 30 ปี ลาออกจากงานราชการในเดือนก.ค. หลังจากที่โบนัสถูกปรับลดลงเป็นวงกว้าง และผู้บังคับบัญชาส่งสัญญาณว่าอาจมีการปลดพนักงานเพิ่มเติม ตามประกาศสาธารณะ มีสำนักงานระดับเขต 4 แห่งในเมืองเซินเจิ้นที่เธออาศัยอยู่ ถูกยุบไปในปีนี้
"โดยทั่วไปแล้ว สภาพแวดล้อมในปัจจุบันไม่ดี และแรงกดดันทางการคลังสูงมาก" เธอกล่าว
ปัจจุบัน หลินกำลังมองหางานด้านเทคโนโลยี แต่หลังจากหางานมาหนึ่งเดือน เธอยังไม่ได้รับการเรียกสัมภาษณ์เลย "มันแตกต่างจากปี 2564 โดยสิ้นเชิง ตอนนั้นฉันมั่นใจได้เลยว่าจะได้สัมภาษณ์งานอย่างน้อยวันละครั้ง"
คนหนุ่มสาวชาวจีนที่ถูกปิดกั้นจากตลาดแรงงานและรู้สึกสิ้นหวัง ต่างพยายามหาทางออกด้วยการแชร์เคล็ดลับในการเอาตัวรอดจากการว่างงานระยะยาว แฮชแท็ก "ว่างงาน" "บันทึกคนว่างงาน" และ "ถูกเลย์ออฟ" มียอดวิวรวมกันกว่า 2.1 พันล้านครั้ง บนแพลตฟอร์ม "เสี่ยวหงซู" (Xiaohongshu) ที่เหอใช้งานอยู่
ผู้ใช้งานบรรยายถึงกิจวัตรประจำวันที่แสนธรรมดา นับถอยหลังวันที่ถูกไล่ออก แชร์บทสนทนาที่น่าอึดอัดใจกับผู้จัดการ หรือให้คำแนะนำต่าง ๆ บางครั้งก็โพสต์ภาพเซลฟี่ร้องไห้ประกอบ
หลู่ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า การที่คนหนุ่มสาวที่ว่างงานกล้าออกมาแสดงตัวมากขึ้น "ช่วยให้สังคมยอมรับมากขึ้น และลดตราบาปเกี่ยวกับการว่างงาน" ทำให้คนหนุ่มสาวที่รู้สึกโดดเดี่ยวได้เชื่อมต่อกัน และ "อาจถึงขั้นนิยามความหมายของการว่างงานในสภาพเศรษฐกิจยุคใหม่"
หลู่ กล่าวว่า บัณฑิตที่ว่างงานเข้าใจดีว่า การตำหนิรัฐบาลว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาของพวกเขา เป็นเรื่องที่ทั้งเสี่ยงและไม่ได้ผล พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะ "เก็บกดความไม่พอใจและโทษตัวเอง" หรือ "นอนราบ" (lying flat)
เหอ อินฟลูเอนเซอร์คนว่างงาน คิดว่าบัณฑิตจบใหม่ควรลดความทะเยอทะยานลง
"ถ้าเราเข้าสู่ 'ช่วงเวลาไร้ค่า' จริง ๆ ฉันคิดว่าคนหนุ่มสาวควรสั่งสมทักษะ หรือทำอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ขายของผ่านโซเชียลมีเดีย หรือประดิษฐ์งานฝีมือ"