โกลบอล เอเนอร์จี มอนิเตอร์ (Global Energy Monitor - GEM) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการวิจัยฉบับใหม่ในวันนี้ (10 ก.ย.) ซึ่งบ่งชี้ว่า จีนครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหมืองถ่านหินใหม่ทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้มีการปล่อยก๊าซมีเทนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
GEM ระบุว่า จีนกำลังพัฒนาเหมืองถ่านหินใหม่หลายโครงการที่สามารถผลิตถ่านหินได้ถึง 1.28 พันล้านตันต่อปี โดยรายงานนี้ครอบคลุมเฉพาะเหมืองขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตอย่างน้อย 1 ล้านตันต่อปี ณ เดือนเม.ย.
รายงานระบุว่า โครงการเหมืองราว 35% ของกำลังการผลิตดังกล่าวอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งหมายความว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
โดโรธี เหมย ผู้จัดการโครงการของ GEM กล่าวว่า "การขยายกำลังการผลิตถ่านหินเป็นนโยบายสำคัญของประเทศในขณะนี้และเป็นภารกิจทางการเมือง บริษัทของรัฐซึ่งครอบครองอุตสาหกรรมนี้มักได้รับคำสั่งให้ทำตามเป้าหมายนี้"
เหมยเสริมว่า ระบบสัญญาระยะยาวของจีนจะรับประกันความสามารถในการทำกำไรของบรรดาบริษัทถ่านหิน
รายงานระบุว่า เหมืองถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบันของจีนคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการปล่อยก๊าซมีเทนจากเหมืองถ่านหินทั่วโลกที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน และหากโครงการเหมืองใหม่ทั้งหมดเสร็จสิ้น สัดส่วนการปล่อยก๊าซมีเทนของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 75%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจีนบ่งชี้ว่า จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลิตถ่านหินได้ทั้งสิ้น 4.66 พันล้านตันในปี 2566 ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์