กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนประชากรสูงวัยในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 36.25 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 20,000 คนจากปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า ณ วันอาทิตย์ (15 ก.ย.) จำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 29.3% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 0.2 จุดจากปีที่แล้ว
เมื่อจำแนกตามเพศ ผู้สูงวัยเพศชายมีจำนวนทั้งสิ้น 15.72 ล้านคน คิดเป็น 26.1% ของประชากรชายในญี่ปุ่น ขณะที่ผู้สูงวัยเพศหญิงมีจำนวนทั้งสิ้น 20.53 ล้านคน คิดเป็น 32.3% ของประชากรหญิงในญี่ปุ่น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า แนวโน้มประชากรสูงวัยในญี่ปุ่นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 (ประมาณปี พ.ศ. 2490) และคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป โดยสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติประมาณการว่า ภายในปี 2583 เมื่อประชากรกลุ่มเบบี้บูมเมอร์รุ่นที่สองของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดระหว่างปี 2514 ถึง 2517 มีอายุ 65 ปี ประชากรสูงวัยจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 34.8% ของประชากรทั้งหมด
รายงานระบุว่า การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานของผู้สูงวัยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2566 ผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ยังทำงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 20 ติดต่อกัน แตะระดับ 9.14 ล้านคน
ในจำนวนดังกล่าว 1.32 ล้านคนทำงานในภาคค้าส่งและค้าปลีก, 1.07 ล้านคนทำงานในภาคการดูแลสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ และ 1.04 ล้านคนทำงานในภาคบริการ
ทั้งนี้ อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 25% โดยครึ่งหนึ่งของประชากรอายุ 65-69 ปียังคงทำงานอยู่