แบงก์ชาติอินเดียมั่นใจบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโต 8% อย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2024 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชัคติคานตา ดาส ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า อินเดียจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ระดับสูงถึง 8% ในระยะกลางนี้

การแสดงความเห็นดังกล่าวของดาสมีขึ้นไม่นานหลังจากอินเดียเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่ระดับ 6.7% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 2567 ซึ่งเป็นไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567-2568 โดยชะลอตัวลงจากระดับ 7.8% ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางอินเดียเริ่มต้นวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงินในเร็ว ๆ นี้

ดาสให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) เมื่อวันศุกร์ (13 ก.ย.) ว่า เขาคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 7.5% โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาขึ้น

ทั้งนี้ ดาสกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอินเดียจะเป็นเช่นไร แต่เขาคาดว่าการเติบโตที่ระดับ 7.5% - 8% จะเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะกลางนี้

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยกัน ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า อินเดียมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกภายในปี 2618 แซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ โดยเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้นในช่วงไม่กี่ไตรมาสที่ผ่านมา และ IMF ได้ออกรายงานเตือนเมื่อเดือนก.ค.ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงแตะระดับ 6.5% ในปี 2568

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอินเดียมีขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์

ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะร่วมวงกับธนาคารกลางเหล่านี้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้อินเดียต้องเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินตาม

อย่างไรก็ดี ดาสกล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของอินเดีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ