ปัจจุบัน 134 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 98% ของเศรษฐกิจโลก กำลังสำรวจช่องทางพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตน โดยเกือบครึ่งหนึ่งพัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว และกลายเป็นผู้นำร่อง เช่น จีน บาฮามาส และไนจีเรีย ที่เริ่มเห็นการใช้สกุลเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
ผลการศึกษาของสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ในสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (17 ก.ย.) ระบุว่า ประเทศสมาชิก G20 ทุกประเทศกำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และมีอยู่ทั้งหมด 44 ประเทศที่นำร่องการใช้ CBDC เพิ่มขึ้นจาก 36 ประเทศในปีก่อนหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การพัฒนา CBDC เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทางการหลายประเทศทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อการใช้เงินสดที่ลดลง และเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากบิตคอยน์และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีต่ออำนาจการพิมพ์เงินของรัฐบาล
จอช ลิปสกี และอนันยา กุมาร จากสภาแอตแลนติก กล่าวว่า หนึ่งในพัฒนาการที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้คือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของ CBDC ในบาฮามาส จาเมกา และไนจีเรีย ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่เปิดตัว CBDC แล้ว
ขณะเดียวกัน ธุรกรรมหยวนดิจิทัล (e-CNY) ต้นแบบในจีน เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าแตะ 7 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 9.87 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งลิปสกีคาดการณ์ว่า "ธนาคารกลางจีน (PBOC) ใกล้จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในอีกหนึ่งปีข้างหน้า"
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การเปิดตัวโครงการนำร่องยูโรดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการระยะหลายปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการเข้าร่วมของสหรัฐฯ ในโครงการ CBDC ข้ามพรมแดนกับธนาคารกลางหลักอีก 6 แห่ง"
สำหรับ CDBC ที่เติบโตเร็วที่สุด ได้แก่ mBridge ซึ่งเชื่อมโยง CBDC จากจีน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง และซาอุดีอาระเบีย และคาดว่าจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ มากขึ้นในปีนี้