อาณาจักรธุรกิจที่แผ่กิ่งก้านสาขาของอีลอน มัสก์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงจรวดอวกาศและชิปฝังสมอง อาจทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์แตะหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์คนแรกของโลกในอีกไม่ช้า
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ความสำเร็จด้านธุรกิจของมัสก์ที่เรียกว่าจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด ทำให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลก นอกจากบุคคลที่รวยที่สุดของโลกที่เขาครองตำแหน่งอยู่แล้วในปัจจุบันด้วยทรัพย์สินเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์
อินฟอร์มา คอนเนกต์ อะคาเดมี (Informa Connect Academy) ระบุว่า มัสก์อาจกลายเป็นมหาเศรษฐีหลักล้านล้านคนแรกของโลกภายในปี 2570 หลังจากที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของเขาเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ย 110% ต่อปี
แต่ขณะเดียวกัน มัสก์ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันเช่นกัน โดยรายงานของอินฟอร์มาฯ ระบุว่า การเติบโตแบบก้าวกระโดดของอินวิเดีย (Nvidia) ผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายใหญ่ของสหรัฐฯ อาจหนุนให้เจนเซน หวง ซีอีโอของอินวิเดีย ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สิน 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นมหาเศรษฐีหลักล้านล้านในปี 2571 เช่นเดียวกับ โกตัม อดานิ มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นมหาเศรษฐีหลักล้านล้านภายในปี 2571
การที่มัสก์จะสามารถไปถึงหลักล้านล้านได้เป็นคนแรกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอนาคตของเทสลา (Telsa) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของมัสก์ โดยเทสลากลายเป็นบริษัทผลิตรถ EV ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าประมาณ 7.1 แสนล้านดอลลาร์ หรือมากกว่ามูลค่าของโคคา-โคล่า (Coca-Cola) แบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America) และโบอิ้ง (Boeing) รวมกัน
เทสลาเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงที่สุดของมัสก์ โดยเขาถือหุ้นเกือบ 13% ในบริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ ราคาปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ หากเทสลายังคงเติบโตต่อไป ก็อาจหนุนให้มูลค่าทรัพย์สินของมัสก์ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เทสลากำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากบริษัทคู่แข่งในจีนที่ขายรถในราคาถูกกว่า บริษัทต้องดิ้นรนในบางครั้ง โดยยอดขายที่ซบเซาทำให้หุ้นเทสลาตกลงสองในสามเมื่อปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังเรียกคืนรถยนต์หลายครั้ง รวมถึงการเรียกคืนซอฟต์แวร์ของรถยนต์เกือบทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนถนนในสหรัฐฯ เนื่องจากพบปัญหาที่ซอฟต์แวร์ระบบขับขี่อัตโนมัติ