นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น เปิดเผยในวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า จีนจะทบทวนคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และดำเนินการเพื่อกลับมานำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากที่มีการขยายกฎเกณฑ์การตรวจสอบการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ โดยประเทศที่สามหลายประเทศจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปล่อยน้ำ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนมีคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยระบุว่ามีความเสี่ยงปนเปื้อนกัมมันตรังสี หลังจากที่บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือ เทปโก (TEPCO) ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อปีที่แล้ว
นายกฯ คิชิดะ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียวว่า "เราได้แจ้งว่าเรามีความพร้อมที่จะขยายขอบเขตการตรวจสอบน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ซึ่งทางจีนก็กล่าวว่าจะเริ่มทบทวนข้อจำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง และจะค่อย ๆ เพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามมาตรฐานของจีน"
นายกฯ ญี่ปุ่นกล่าวเสริมว่า หลักเกณฑ์ของจีนที่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้กับการนำเข้าทั้งหมด
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า จีนจะยังคงหารือกับญี่ปุ่นเรื่องการจัดการการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีต่อไป
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงข่าวว่า จีนได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดการกับข้อกังวลต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และยังคงคัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเช่นเดิม
ฮิโรยูกิ นามาซึ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงข่าวหลังการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ คิชิดะว่า ญี่ปุ่นยังคงยึดมั่นในจุดยืนที่ต้องการให้จีนยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นโดยทันที
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ายังไม่มีกรอบเวลาหรือกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอาจถูกยกเลิกเมื่อใด หรือจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อนำไปสู่การยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว