สิงคโปร์กระโดดขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ในการจัดอันดับประเทศที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ หรือ World Talent Ranking (WTR) ประจำปี 2567 ซึ่งจัดทำโดย World Competitiveness Center ของสถาบัน IMD โดยสิงคโปร์พุ่งพรวดจากอันดับ 8 ในปีที่แล้วมาติดท็อป 3 ปีนี้ ขณะที่ไทยขยับลงสองอันดับมาอยู่ในอันดับที่ 47
การจัดอันดับดังกล่าวได้จากข้อมูลทางสถิติและคำตอบจากแบบสำรวจ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้าน คือ การลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Investment & Development) ความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากภายนอกประเทศ (Appeal) และความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศ (Readiness) ซึ่งสิงคโปร์นั้นโดดเด่นเป็นพิเศษในด้านความพร้อม ดังเห็นได้จากการรักษาตำแหน่งสูงสุดในเกณฑ์นี้ไว้ได้ 3 ปีติดต่อกัน
ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับลดลงมาอยู่อันดับที่ 47 ในปีนี้ จากอันดับ 45 ในปีที่แล้ว โดยพบว่าประเทศไทยมีจุดเด่นด้านการดึงดูดบุคลากรจากภายนอกอยู่ในอันดับที่ 27 (จากอันดับที่ 29) ขณะที่ด้านการลงทุนและพัฒนาบุคลากรยังคงอยู่ในอันดับที่ 46 (เท่าเดิม) ส่วนความพร้อมของบุคลากรร่วงลงมาอยู่ที่ 49 (จากอันดับที่ 41)
สำหรับเขตเศรษฐกิจที่ติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกอยู่ในยุโรปถึง 8 อันดับด้วยกัน มีเพียงสิงคโปร์และฮ่องกง (อันดับที่ 9) เป็นเพียงสองเขตเศรษฐกิจเอเชียที่แทรกเข้ามาอยู่ในอันดับท็อป 10 ได้
ทั้งนี้สวิตเซอร์แลนด์ยังคงครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน ส่วนลักเซมเบิร์กหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 3 (จากอันดับ 2)
รายงาน World Talent Ranking (WTR) ประจำปี 2567 ขยายขอบเขตการประเมินครอบคลุม 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเป็นครั้งแรกที่รวมกานา ไนจีเรีย และเปอร์โตริโกเข้ามาอยู่ในการจัดอันดับ ซึ่งช่วยขยายมุมมองเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันดึงดูดบุคลากรของประเทศต่าง ๆ ให้กว้างขึ้น
นอกจากผลการจัดอันดับแล้ว รายงานประจำปีนี้เผยด้วยว่า ในประเทศญี่ปุ่น (อันดับที่ 43) ประเทศไทย (47) สิงคโปร์ (2) สหราชอาณาจักร (27) และแคนาดา (19) นั้น พบว่าผู้บริหารระดับสูงพิจารณานำ AI มาใช้ในการทำงานแทนคน และยังพบการเลือกปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ สะท้อนว่าเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์อาจทำให้เกิดการกีดกันแรงงานมากขึ้นในบางประเทศ
รายงานเสนอแนะว่า ผู้กำหนดนโยบายควรเริ่มปรับกระบวนการกำกับดูแลให้คล่องตัวขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาและนโยบายตลาดแรงงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การ retraining และ upskilling
"แทนที่จะถกเถียงกันถึงความสามารถของ AI ในการทำงานบางอย่างได้ดีเท่ากับมนุษย์ เราควรเน้นที่การทำความเข้าใจและการเรียนรู้เทคโนโลยี AI และ Web3 ซึ่งระบบการศึกษาของเราควรให้ความสำคัญก่อนอื่น" อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการ WCC กล่าว
"แม้ยังไม่ชัดเจนว่า AI จะทำให้ประเทศต่าง ๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันดึงดูดบุคลากรมากขึ้นหรือไม่ แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า AI จะส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างในการเข้าถึง AI ของพนักงาน"