ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันกลับมาคึกคักอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากอิหร่านใช้ขีปนาวุธแบบทิ้งตัว (ballistic missile) จำนวนหลายลูกยิงถล่มอิสราเอล ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 5% ในวันอังคาร (1 ต.ค.) หลังจากราคาน้ำมันอยู่ในภาวะซบเซาก่อนหน้านั้น
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าอุปทานน้ำมันในตะวันออกกลางมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะชะงักงัน ในทางตรงกันข้าม ภาวะการซื้อขายในเดือนก.ย.เป็นไปอย่างซบเซาเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันในจีนอ่อนแอลง และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น
แต่สงครามที่ขยายวงกว้างในตะวันออกกลางขณะนี้ได้มาถึงจุดเดือดครั้งใหม่ เมื่ออิสราเอลประกาศว่าจะตอบโต้อิหร่านอย่างสาสม หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล โดยนักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และตลาดน้ำมันมองว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู อาจพุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่านเพื่อเป็นการตอบโต้
เฮลิมา ครอฟต์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์โลกของบริษัทอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ (RBC Capital Markets) กล่าวในรายการ "The Exchange" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า "ที่ผ่านมานั้น เราแทบไม่ให้ความสนใจกับสงครามนี้ แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องคิดถึงสถานการณ์ที่อุปทานน้ำมันของอิหร่านอาจตกอยู่ในความเสี่ยง"
พันเอกแจ็ค จาคอปส์ ซึ่งเป็นทหารปลดประจำการของกองทัพสหรัฐฯ เชื่อว่า อิสราเอลอาจจะพุ่งเป้าโจมตีสาธารณูปโภคด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีความแข็งแกร่ง จึงทำให้ยากต่อการทำลาย แต่หากสาธารณูปโภคเหล่านี้ถูกโจมตี ก็จะกระตุ้นให้อิหร่านใช้ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวโต้ตอบกลับในระดับที่รุนแรงกว่า และอาจทำให้ยากต่อการป้องกัน
ทางด้านบ็อบ แมคนัลลี ประธานบริษัทแรพิแดน เอนเนอร์จี (Rapidan Energy) กล่าวว่า ผลกระทบที่จะมีต่อตลาดน้ำมันนั้น จะขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านและสถานการณ์จะยกระดับขึ้นอย่างไรหลังจากนั้น โดยหากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันถูกตัดขาด ราคาน้ำมันก็อาจจะพุ่งขึ้นอย่างน้อย 5 ดอลลาร์/บาร์เรล