ราตัน ทาทา อดีตประธานบริษัททาทา กรุ๊ป (Tata Group) ผู้ผลักดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียก้าวสู่เวทีโลกด้วยการเข้าซื้อกิจการชั้นนำหลายแห่ง เสียชีวิตลงแล้วในวัย 86 ปี ตามคำแถลงของทาทา กรุ๊ป เมื่อคืนวันพุธ (9 ต.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ราตัน ทาทา ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในฐานะประธานมายาวนานกว่า 20 ปี ได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการป่วยหนักที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองมุมไบ
"ด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้ง เราขอส่งคุณราตัน นาวัล ทาทา ไปสู่สุคติ ท่านคือผู้นำที่หาได้ยากยิ่ง ผู้สร้างคุณูปการอันประเมินค่ามิได้ ไม่เพียงแต่หล่อหลอมทาทา กรุ๊ป เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรากฐานของชาติเราด้วย" บริษัทฯ กล่าวในแถลงการณ์
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้แสดงความอาลัยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ว่า "ราตัน ทาทา คือผู้นำธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์ มีจิตวิญญาณที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และเป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่" พร้อมกล่าวว่า "รู้สึกปวดร้าวอย่างยิ่งกับการจากไปของท่าน ในยามนี้ ขอร่วมไว้อาลัยและส่งกำลังใจไปถึงครอบครัว มิตรสหาย และผู้ที่เคารพรักท่าน"
หลังจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ราตัน ทาทา ก็เดินทางกลับอินเดีย และในปี 2505 เขาได้เริ่มทำงานกับเครือบริษัททาทาที่ปู่ทวดของเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อเกือบศตวรรษก่อน
ราตัน ทาทา ได้ผ่านการเรียนรู้งานในหลายบริษัทของเครือทาทา ทั้งที่ เทลโค (Telco) (ปัจจุบันคือ บริษัท ทาทา มอเตอร์ส จำกัด (Tata Motors Ltd)) และบริษัท ทาทา สตีล จำกัด (Tata Steel Ltd) ก่อนจะสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการพลิกฟื้นธุรกิจที่ขาดทุนและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้กับบริษัทวิทยุกระจายเสียงและอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Radio & Electronics Company) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ
ในปี 2534 ราตัน ทาทา รับช่วงต่อจาก เจ.อาร์.ดี. ทาทา ซึ่งเป็นลุงของเขา เพื่อขึ้นเป็นผู้นำเครือบริษัท ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่อินเดียเริ่มปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยเปิดประตูเศรษฐกิจสู่โลกภายนอก และก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในก้าวแรกของ ราตัน ทาทา คือการจำกัดอำนาจของผู้บริหารบางคนในบริษัทลูกของเครือทาทาด้วยการกำหนดอายุเกษียณ ดันคนรุ่นใหม่ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง และเพิ่มการควบคุมดูแลบริษัทต่าง ๆ
ในปี 2539 ราตัน ทาทา ได้ก่อตั้งบริษัทโทรคมนาคม ทาทา เทเลเซอร์วิสเซส (Tata Teleservices) และต่อมาในปี 2547 เขาก็พาบริษัทไอทีอย่าง ทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส (Tata Consultancy Services) ซึ่งเป็นบริษัททำเงินหลักของเครือ เข้าตลาดหลักทรัพย์
แต่เพื่อให้เติบโตอย่างแท้จริง ทาทา กรุ๊ป จึงตัดสินใจบุกตลาดต่างประเทศ
"มันเป็นการแสวงหาการเติบโตและเขียนกติกาใหม่ ด้วยการบอกตัวเองว่า เราสามารถเติบโตได้ด้วยการกว้านซื้อกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำมาก่อนเลย" ราตัน ทาทา กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวิทยาลัยบริหารธุรกิจสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2556
ทาทา กรุ๊ป เริ่มเข้าซื้อบริษัทชาอังกฤษเท็ดเล่ (Tetley) ในปี 2543 มูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยบริษัทเหล็กอังกฤษ-ดัตช์ คอรัส (Corus) ในปี 2550 ด้วยเม็ดเงินมหาศาลถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการเข้าซื้อกิจการต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดโดยบริษัทอินเดียในเวลานั้น จากนั้นในปี 2551 ทาทา มอเตอร์ส ก็ควักกระเป๋าอีก 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อแบรนด์รถหรูของอังกฤษอย่างจากัวร์ (Jaguar) และแลนด์โรเวอร์ (Land Rover) จากบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor Co)
โครงการโปรดของราตัน ทาทา ที่ทาทา มอเตอร์ส ได้แก่ รถยนต์รุ่นอินดิกา (Indica) ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ออกแบบและผลิตในอินเดีย รวมทั้งรถยนต์รุ่นนาโน (Nano) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรถยนต์ราคาถูกที่สุดในโลก โดยราตัน ทาทา ก็ลงมือร่างแบบเบื้องต้นให้กับรถยนต์ทั้งสองรุ่นนี้ด้วยตัวเอง
รถอินดิกาประสบความสำเร็จทางการค้าอย่างงดงาม แต่รถนาโนกลับไม่เป็นอย่างที่ฝัน แม้จะขายในราคาเพียงแค่ 100,000 รูปี (ราว 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ) และเป็นจุดสูงสุดของความฝันของราตัน ทาทา ที่อยากผลิตรถยนต์ราคาประหยัดสำหรับคนอินเดียทั่วไป แต่ก็ต้องสะดุดเพราะปัญหาด้านความปลอดภัยในช่วงแรกและกลยุทธ์การตลาดที่ผิดพลาด สุดท้ายก็ต้องยุติการผลิตนาโนหลังจากเปิดตัวได้ 10 ปี
ทั้งนี้ ราตัน ทาทา เป็นนักบินที่มีใบอนุญาต และบางครั้งก็ขับเครื่องบินของบริษัทด้วยตัวเอง เขาไม่เคยแต่งงาน และเป็นที่รู้จักในด้านบุคลิกที่เงียบขรึม ใช้ชีวิตเรียบง่าย และอุทิศตนทำงานด้านการกุศลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ประมาณ 2 ใน 3 ของทุนเรือนหุ้นของทาทา ซันส์ (Tata Sons) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของเครือทาทา ถือครองโดยทรัสต์เพื่อการกุศล
อย่างไรก็ตาม การนำทัพของ ราตัน ทาทา ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สร้างความบาดหมางครั้งใหญ่เมื่อปี 2559 เมื่อบริษัทปลด ไซรัส มิสทรี ทายาทตระกูลมหาเศรษฐีเครือบริษัทชาปูร์จี ปัลลอนจี (Shapoorji Pallonji) ออกจากตำแหน่งประธานทาทา ซันส์
ทาทา กรุ๊ป ระบุว่า มิสทรีล้มเหลวในการพลิกฟื้นธุรกิจที่มีผลประกอบการย่ำแย่ ในขณะที่มิสทรีก็สวนกลับด้วยการกล่าวหา ราตัน ทาทา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของเครือว่า ชอบเข้าแทรกแซงและสร้างกลุ่มอำนาจคู่ขนานขึ้นมาในเครือบริษัท
หลังจากถอยห่างจากบทบาทในทาทา กรุ๊ป ราตัน ทาทา ก็ผันตัวมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในวงการสตาร์ตอัปของอินเดีย โดยทุ่มเม็ดเงินหนุนหลังบริษัทใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทชำระเงินดิจิทัล "เพย์ทีเอ็ม" (Paytm), บริษัทลูกของแอปเรียกรถโอลา (Ola) อย่าง "โอลา อิเล็กทริก" (Ola Electric) และผู้ให้บริการด้านความงามและงานบ้าน "เออร์เบิน คอมพานี" (Urban Company)
ท่ามกลางรางวัลมากมายที่ได้รับตลอดชีวิต ราตัน ทาทา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปัทมะ วิภูษัณ (Padma Vibhushan) ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดอันดับสองของพลเรือนอินเดีย ในปี 2551 จากผลงานอันโดดเด่นและทรงคุณค่าในด้านการค้าและอุตสาหกรรม