รมว.เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ดัน EU ตั้งแนวร่วมอุตสาหกรรมชิป หวังแข่งจีน-สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2024 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เดิร์ก เบลจาร์ตส์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.) ว่า เขาต้องการจัดตั้งแนวร่วม "Coalition of the Willing" หรือแนวร่วมกลุ่มประเทศที่เห็นพ้องต้องกันในสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเสริมแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ภายในประเทศสมาชิก และรักษาความสามารถในการแข่งขันกับสหรัฐฯ และจีน

เบลจาร์ตส์แสดงความเห็นดังกล่าวนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีอุตสาหกรรมกลุ่ม G7 ที่กรุงโรม และระบุว่า ถึงแม้เนเธอร์แลนด์จะเป็นที่ตั้งของเอเอสเอ็มแอล (ASML) บริษัทผลิตเครื่องมือผลิตชิปชั้นนำ แต่ก็ต้องการสนับสนุนให้ประเทศอื่น ๆ ใน EU มีโรงงานสำหรับการผลิต การประกอบ และบรรจุภัณฑ์มากขึ้น

"เพื่อให้ EU แข็งแกร่งขึ้น และมีอำนาจต่อรองท่ามกลางผู้เล่นระดับโลกอื่น ๆ การร่วมมือกันถือเป็นสิ่งสำคัญ" เบลจาร์ตส์กล่าว พร้อมเสริมว่า เนเธอร์แลนด์ยินดีที่จะรับบทบาทผู้นำ และเขาได้หารือกับอดอลโฟ อูร์โซ รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีในเรื่องนี้แล้ว

แม้เนเธอร์แลนด์จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 18 ของโลก และไม่ได้เป็นสมาชิก G7 แต่เบลจาร์ตส์ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี G7 เกี่ยวกับนโยบายเทคโนโลยี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า EU เพิ่งสูญเสียผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมชิปคนสำคัญเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เธียร์รี เบรตัน อดีตกรรมาธิการอุตสาหกรรมของ EU ผู้ร่างกฎหมายชิป ลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน โดยกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566 เป็นแผนเงินอุดหนุนมูลค่า 4.3 หมื่นล้านยูโร (4.696 หมื่นล้านดอลลาร์) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของยุโรปในตลาดชิปโลกให้สูงถึง 20% ภายในปี 2573

นอกจากนี้ เบลจาร์ตส์ได้พบปะกับจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ที่กรุงโรม โดยหลายฝ่ายคาดว่าสหรัฐฯ จะออกมาตรการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงชุดใหม่ไปยังจีนในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ ASML ด้วย

ทั้งนี้ เบลจาร์ตส์เผยว่า นี่เป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างตัวเขากับไรมอนโด และทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่เป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้อจำกัดการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ