เซอิจิ อาดาจิ สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในวันนี้ (16 ต.ค.) ว่า BOJ ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าวแสดงความเห็นว่า "ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในตอนนี้ ... ผมคิดว่าเราควรหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งรีบมากกว่า"
นายอาดาจิ เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มวงจรการผ่อนคลายนโยบายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย น่าจะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้า
นอกจากนี้ BOJ จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการเติบโตของค่าจ้างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจะยังคงดำเนินต่อไปในปีหน้าหรือไม่ โดยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเจรจาค่าจ้างระหว่างผู้บริหารและสหภาพแรงงาน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า BOJ ตั้งเป้ารักษาเสถียรภาพด้านราคาที่ระดับ 2% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังคงสูงกว่าระดับดังกล่าว โดย BOJ ได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อเดือนมี.ค. ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นประมาณ 0.25% จากช่วง 0-0.1% ในเดือนก.ค.
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เหมาะสมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณแทรกแซงโดยตรงต่อนโยบายของ BOJ
อย่างไรก็ตาม อาดาจิเน้นย้ำว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเอื้ออำนวยให้ BOJ ปรับนโยบายการเงินกลับสู่สภาวะปกติ พร้อมกล่าวว่า BOJ ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เร็วเกินไป ซึ่งอาจสร้างความกังวลว่าประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้ง
ทั้งนี้ BOJ มีกำหนดจัดประชุมนโยบายเป็นระยะเวลา 2 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. เพื่อพิจารณาว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 0.25% หรือไม่