สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หุ้นฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้า ยูนิโคล่ (Uniqlo) ร่วงลงมากถึง 4.5% ในวันนี้ (2 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการดิ่งลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ปีนี้ หลังจากโฆษกของฟาสต์ รีเทลลิ่ง เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศจีน หลังจากทาดาชิ ยานาอิ ซีอีโอของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับฝ้ายจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์
ยานาอิให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยูนิโคล่ไม่ได้ใช้ฝ้ายที่มีแหล่งที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เป็นพื้นที่ที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการคุมเข้มด้านการค้าเนื่องจากมีความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน
เจ้าหน้าที่ตัวแทนของฟาสต์ รีเทลลิ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ว่า ทางบริษัทกำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าการแสดงความเห็นของยานาอิจะทำให้อุปสงค์ลดลงหรือก่อให้เกิดการคว่ำบาตรสินค้าของบริษัทในจีนหรือไม่
แคเธอรีน ลิม นักวิเคราะห์อาวุโสของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า การแสดงความเห็นของยานาอิส่งผลให้โซเชียลมีเดียในจีนแผ่นดินใหญ่พากันตรวจสอบการดำเนินงานของยูนิโคล่ในซินเจียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขายของบริษัทพุ่งขึ้นสูงสุด
"สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้บริษัทต้องเลื่อนการเปิดร้านค้าขนาดใหญ่ในจีนในปีงบประมาณปีนี้" ลิมกล่าว
ในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นนั้น รายได้ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ในจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล (Greater China) ซึ่งรวมฮ่องกงและไต้หวัน มีสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้บริษัทในปีงบการเงินที่สิ้นสุดเดือนส.ค. 2567 ซึ่งอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเยน (2.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยูนิโคล่มีร้านค้าทั่วโลกจำนวน 2,509 สาขา ณ สิ้นเดือนก.ย. ซึ่งรวมถึง 1,031 สาขาในฮ่องกง ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบจากซินเจียงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองสำหรับบริษัทต่างชาติที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ในจีน เห็นได้จากกรณีที่เอชแอนด์เอ็ม (H&M) คู่แข่งของยูนิโคล่ ถูกผู้บริโภคในจีนคว่ำบาตรเมื่อปี 2564 สืบเนื่องมาจากข้อความบนเว็บไซต์ทางการที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง และประกาศว่าจะไม่จัดหาฝ้ายจากซินเจียงอีกต่อไป
ร้าน H&M ถูกถอดออกจากบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน และตำแหน่งร้านถูกลบออกจากแอปแผนที่ในจีน ท่ามกลางความโกรธแค้นของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อบริษัทที่ปฏิเสธการใช้ฝ้ายจากซินเจียง ขณะเดียวกัน แบรนด์ตะวันตกอย่างไนกี้ (Nike), พูม่า (Puma), เบอร์เบอรี่ (Burberry) และอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทนี้เช่นกัน