เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ประกาศเมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.) ว่าจะยุติการพัฒนารถแท็กซี่ไร้คนขับของครูซ (Cruise) บริษัทที่ GM ถือหุ้นใหญ่ซึ่งประสบภาวะขาดทุน นับเป็นการพับโครงการของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งเคยทุ่มเทให้กับหน่วยเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้มาโดยตลอด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทรถยนต์แห่งดีทรอยต์รายนี้แถลงว่าจะยุติการสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการแท็กซี่ไร้คนขับ "เนื่องจากต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรมหาศาลในการขยายธุรกิจ อีกทั้งตลาดแท็กซี่ไร้คนขับก็มีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ"
นับตั้งแต่ปี 2559 GM ทุ่มเงินลงทุนให้ครูซไปกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนจะตัดสินใจผนวกรวมครูซเข้ากับทีมพัฒนาระบบเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะที่ GM กำลังลดทอนแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมถอนหุ้นจากโรงงานแบตเตอรี่ร่วมทุน และปรับโครงสร้างธุรกิจในจีน
ในปี 2566 แมรี บาร์รา ซีอีโอของ GM เคยประกาศว่า ครูซจะสร้างรายได้ถึงปีละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 แต่เมื่อวานนี้บาร์รากลับบอกว่าธุรกิจนี้ไม่คุ้มที่จะรักษาไว้
"คุณต้องเข้าใจว่า การบริหารฝูงแท็กซี่ไร้คนขับนั้นมีต้นทุนสูง และสุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา" บาร์รากล่าวระหว่างการประชุมนักวิเคราะห์
GM คาดว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์เหลือ 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จในปลายเดือนมิ.ย. 2568
ทั้งนี้ บาร์ราไม่ได้เปิดเผยจำนวนพนักงานครูซที่อาจถูกย้ายไปทำงานให้กับ GM
ด้านคู่แข่งรายใหญ่ที่ยังคงเดินหน้าธุรกิจแท็กซี่ไร้คนขับ ได้แก่ ไป่ตู้ (Baidu), เทสลา (Tesla) และเวย์โม (Waymo) จากอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งล้วนแต่มีทุนหนา
เมื่อเดือนที่แล้ว ครูซยอมรับว่าได้ปลอมแปลงรายงานเพื่อแทรกแซงการสอบสวนของรัฐบาลกลาง และยินยอมจ่ายค่าปรับทางอาญา 5 แสนดอลลาร์ ภายใต้ข้อตกลงชะลอการฟ้องคดี
กระทรวงยุติธรรมเผยว่า ครูซปิดบังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุเมื่อเดือนต.ค. 2566 เมื่อรถแท็กซี่ไร้คนขับคันหนึ่งในซานฟรานซิสโกพุ่งชนคนเดินถนนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส GM ต้องจ่ายค่าชดเชยก้อนโตให้กับหญิงผู้เคราะห์ร้ายรายดังกล่าว และยังคงถูกจับตามองจากหน่วยงานความปลอดภัยทางรถยนต์ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
เมื่อเดือนก.ค. GM ประกาศยุติโครงการพัฒนารถแท็กซี่ไร้คนขับรุ่นที่ออกแบบมาโดยไม่มีพวงมาลัยหรืออุปกรณ์ควบคุมสำหรับมนุษย์ หลังจากที่บริษัทต้องปรับลดขนาดองค์กรครั้งใหญ่ภายหลังอุบัติเหตุในปี 2566 ทั้งปลดผู้บริหารระดับสูงหลายราย และเลิกจ้างพนักงานไปกว่าหนึ่งในสี่