มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (ITIF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ ได้เผยดัชนีใหม่ในชื่อ Trump Risk Index ซึ่งจัดอันดับประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ 39 ประเทศตามระดับความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์
ดัชนีดังกล่าวพบว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด (-4.12 คะแนน) ส่วนไทยก็ตามมาติด ๆ ในอันดับสอง (-3.98 คะแนน) และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรก ส่วนอันดับ 3-5 ตกเป็นของสโลวีเนีย (-2.48) ออสเตรีย (-2.42) และแคนาดา (-1.98) โดยคะแนนที่ติดลบแสดงถึงความเสี่ยงในระดับสูง
ขณะที่ 5 ประเทศที่ดูเหมือนจะอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยที่สุด ได้แก่ ลิทัวเนีย (4.22 คะแนน) เอสโตเนีย (3.60) โปแลนด์ (3.56) ลัตเวีย (2.88) และออสเตรเลีย (2.88)
การจัดอันดับความเสี่ยงดังกล่าวประเมินจาก 4 เกณฑ์ด้วยกัน ได้แก่ งบประมาณด้านการป้องกันประเทศ ดุลการค้า นโยบายการค้าและเทคโนโลยีที่ต่อต้านสหรัฐฯ และความเต็มใจในการต่อต้านการครอบงำด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจากจีน
ITIF ระบุว่า หลักการ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์ มุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ถูกมองว่าอาศัยการลงทุนของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียอะไรเลย ทั้งยังใช้ประโยชน์จากตลาดเสรีของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของตน หรือเข้าข้างจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแทนที่จะยืนหยัดเคียงข้างสหรัฐฯ
ในบรรดา 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดตามรายงานของ ITIF รวมถึงไทยนั้น ประเทศเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือ มีงบประมาณด้านการป้องกันประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับ GDP และต่างเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะไทยและเม็กซิโกที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นพิเศษ และยังไม่ค่อยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการเข้าข้างสหรัฐฯ ในการต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนทั้งด้านการทหาร การทูต และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
สำหรับไทยนั้น ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 2.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ส่วนเม็กซิโกเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากถึง 2.347 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน
เมื่อแยกตามเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อแล้ว เกณฑ์ที่ทำให้ไทยมีความเสี่ยงมากที่สุดคือการเกินดุลการค้า (-1.89) ตามมาด้วยงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ (-1.14) จุดยืนต่อจีน (-0.48) และนโยบายที่มีลักษณะต่อต้านสหรัฐฯ (-0.47)