สหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเวียดนามสูงเกิน 1.1 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 เนื่องจากการส่งออกจากเวียดนามซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ขยายตัวขึ้น ท่ามกลางการอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ของเงินดองเวียดนามเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) แสดงให้เห็นว่า ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยข้อมูลยืนยันว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ช่องว่างการค้าขนาดใหญ่นี้เป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีสูงถึง 20% สำหรับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ
ความเสี่ยงนี้ทวีความรุนแรงขึ้นจากการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินดองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเงินดองมีการซื้อขายใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสหรัฐฯ เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกตรวจสอบเพราะต้องสงสัยว่าอาจทำการปั่นค่าเงิน
ตัวเลขการค้าที่ปรับตามฤดูกาลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2567 เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 1.116 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 9.48 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ส่วนข้อมูลที่ยังไม่ได้ปรับตามฤดูกาลบ่งชี้ว่า เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 1.131 แสนล้านดอลลาร์
ในเดือนพ.ย. ช่องว่างการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากเดือนต.ค. เนื่องจากการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเงินดองที่อ่อนค่าลง
"หากสหรัฐฯ มองว่าเวียดนามจงใจทำให้เงินดองอ่อนค่าเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ก็อาจนำไปสู่การกล่าวหาว่ามีการปั่นค่าเงินอีกครั้ง" ลีฟ ชไนเดอร์ ผู้บริหารบริษัทลูเธอร์ (Luther) ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศในเวียดนาม กล่าว
เมื่อครั้งหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์ได้ออกประกาศกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินด้วยการแทรกแซงตลาดเพื่อทำให้สกุลเงินของตนมีค่าต่ำลง
ธนาคารกลางเวียดนามระบุว่า ธนาคารพร้อมจะแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน หากมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์จากการเคลื่อนไหวของค่าเงิน และในอดีตธนาคารก็เคยขายดอลลาร์เพื่อหนุนค่าเงินดองให้แข็งขึ้น
เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ก่อนการเผยแพร่ตัวเลขการค้าล่าสุดนั้น ธนาคารกลางเวียดนามระบุว่าจะจับตานโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์อย่างใกล้ชิด และปรับตัวตามความเหมาะสม
ส่วนล่าสุดที่เงินดองอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนั้น ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ทั่วโลก