การกลับมาทวงบัลลังก์ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นการหวนคืนสู่เวทีการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง เป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับพรรครีพับลิกันและบรรดาผู้สนับสนุน แต่สำหรับผู้ที่ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) แล้วนั้น การคัมแบ็กของทรัมป์ครั้งนี้ถือเป็นการถอยหลังครั้งใหญ่
สื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อม Eco-Business ระบุว่า การที่ทรัมป์แสดงจุดยืนต่อต้านการกำกับดูแล โดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม (Social Inclusion) ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ กำลังจะยุติการสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืนและความเท่าเทียมทางสังคมหลายโครงการ
แม้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของ ESG แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำลายล้าง เนื่องจากแรงขับเคลื่อนสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นั้นได้หยั่งรากลึกในสหภาพยุโรป จีน และบริษัทในสหรัฐฯ หลายแห่ง แต่ขณะเดียวกัน หากขาดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ความพยายามด้าน ESG อาจชะลอตัวหรือหยุดชะงักลงได้
- ESG ต้องเป็นธรรม
การกลับมาของทรัมป์เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ว่า นโยบาย ESG ต้องไม่เพียงมองไปที่เป้าหมายสูงสุดเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเป็นธรรมและน่าเชื่อถือด้วย ดังเห็นได้จากประชาชนในหลายประเทศที่มักโยงว่าปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศแบบก้าวหน้า
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนว่าเหล่าผู้นำจะมีความเข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว ด้วยการให้ความสำคัญกับนโยบายที่ไม่ละเลยประชาชนชนชั้นแรงงาน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นหมายถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และการใช้แนวทางที่ระมัดระวังต่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม หากปราศจาก "การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม" การวิพากษ์วิจารณ์ ESG ว่าเป็น "การหลอกลวงของชนชั้นสูง" ก็จะยิ่งดังขึ้นและกลายเป็นเสียงสะท้อนของกลุ่มคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันจากผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากนโยบายเหล่านี้
ดังนั้น การดำเนินนโยบาย ESG ต้องเผชิญกับคำถามพื้นฐานที่ว่า นโยบายเหล่านั้นช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนทั่วไปจริงหรือไม่ เสริมสร้างสิทธิแรงงาน เพิ่มค่าจ้างหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเพิ่มงานเอกสาร แรงจูงใจทางภาษี และเงินอุดหนุนที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทขนาดใหญ่ แต่กลับเพิกเฉยต่อความกังวลของคนทั่วไป
ดร. ปีเตอร์ สเตก นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากศูนย์เทคโนโลยี ยุทธศาสตร์และความยั่งยืน (CTSS) แห่ง Asia School of Business ในกัวลาลัมเปอร์ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่าการผลักดันน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนนั้น ในหลายกรณีได้สร้างภาระต้นทุนการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สูงขึ้นและลดการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรรายย่อย ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) มากกว่านั้น สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบได้ง่ายกว่า จึงรวบอำนาจในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ในขณะที่เกษตรกรตัวเล็ก ๆ มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
สำหรับหลายคน สภาพการณ์ดังกล่าวสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่ากฎระเบียบ ESG ไม่เป็นธรรม และทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะลดความสำคัญของการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลเสียต่อเป้าหมายทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG หากผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถทำให้นโยบาย ESG เกิดประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนชนชั้นแรงงานและชนบทแล้วล่ะก็ ความน่าเชื่อถือของ ESG ก็จะยิ่งลดน้อยถอยลงอีก