สำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยในวันนี้ (13 ม.ค.) ว่า การส่งออกแร่หายากของจีนในปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ภายในประเทศลดน้อยลง
จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งออกแร่ธาตุ 17 ชนิดในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 55,431 เมตริกตัน โดยแร่เหล่านี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่ที่สำนักข่าวรอยเตอร์เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2557 อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกรวมกลับร่วงลง 36% เหลือเพียง 488.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะราคาที่ตกต่ำในปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากอุปทานล้นตลาด
ตามข้อมูลจากตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ (SMM) ราคาตลาดสปอตของเพรซีโอดิเมียมออกไซด์ (praseodymium oxide) ในจีนปรับตัวลดลง 26% ในปี 2567 ต่อเนื่องจากที่เคยร่วงลง 37% ในปี 2566
สำหรับเดือนธ.ค.เพียงเดือนเดียว จีนส่งออกแร่หายาก 3,326 ตัน ลดลงจาก 4,416 ตันในเดือนพ.ย. 2567 และ 3,439 ตันในเดือนธ.ค. 2566
ในด้านการนำเข้า จีนนำเข้าแร่หายากในเดือนธ.ค. หดตัวลง 41.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือเพียง 9,645 ตัน ส่งผลให้ยอดนำเข้ารวมทั้งปี 2567 อยู่ที่ 132,931 ตัน ลดลง 24.4% จากปี 2566
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การนำเข้าที่ลดลงในปี 2567 มีสาเหตุสำคัญมาจากอุปทานที่ลดน้อยลงจากสหรัฐฯ และเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่อีกสองราย
เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาได้ยึดครองศูนย์กลางการทำเหมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์แร่ออกไซด์หายากรายสำคัญของจีน ส่งผลให้การขนส่งต้องหยุดชะงักลง
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี การนำเข้าจากสหรัฐฯ และเมียนมาหดตัวลง 14.6% และ 31.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า