สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (16 ม.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนและบริษัทผลิตรถยนต์เอกชนของจีน กำลังจับตามองและพิจารณาโรงงานในประเทศเยอรมนีที่กำลังจะปิดตัวลง โดยเฉพาะโรงงานของโฟล์คสวาเกน (VW)
แหล่งข่าวระบุว่า การซื้อโรงงานครั้งนี้จะเปิดทางให้จีนก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อันทรงเกียรติของเยอรมนี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ชั้นนำหลายราย แม้จีนจะลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมในเยอรมนี ตั้งแต่โทรคมนาคมไปจนถึงหุ่นยนต์ แต่ก็ยังไม่เคยตั้งฐานผลิตรถยนต์ในประเทศนี้ ทั้งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวจีนถึงสองราย
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจกลายเป็นการลงทุนที่อ่อนไหวทางการเมืองที่สุดของจีน เพราะโฟล์คสวาเกนถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเยอรมนี ซึ่งกำลังถูกคุกคามจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากสู่เทคโนโลยีสีเขียว
ถ้าสามารถผลิตรถในเยอรมนีเพื่อขายในยุโรปได้ ผู้ผลิตรถ EV จีนก็จะเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรป (EU) ได้ และอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตยุโรปอีกด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนคงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่ที่จะมีต่อจีนหลังการเลือกตั้งเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแนบแน่นขึ้นตลอด 16 ปีที่อังเกลา แมร์เคิล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการลงทุนและการส่งออกของบรรดาค่ายรถยนต์เยอรมนีสู่จีน
แต่สายสัมพันธ์เริ่มจางหายเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันผลักดันนโยบายลดการพึ่งพาจีน รัฐมนตรีต่างประเทศ อันนาเลนา แบร์บ็อค ถึงกับเรียกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าเป็น "เผด็จการ" และมองจีนในฐานะคู่แข่ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีย้ำว่า จีนได้วิวัฒน์ตัวเองกลายเป็นคู่แข่งเชิงระบบของเยอรมนีไปเสียแล้ว
VW กำลังมองหาทางเลือกใหม่ให้โรงงานในเดร็สเดินและอ็อสนาบรึค ภายใต้แผนลดต้นทุนและปรับลดขนาดการดำเนินงานในเยอรมนี โดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป เจ้าของแบรนด์ดังอย่างปอร์เช่ (Porsche), ออดี้ (Audi) และสโกด้า (Skoda) กำลังเผชิญยอดขายที่ร่วงลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจีน
ผู้บริหาร VW ต้องการปิดโรงงานหลายแห่ง แต่ถูกสหภาพแรงงานคัดค้าน ในที่สุดก็ได้ข้อตกลงก่อนคริสต์มาสว่าจะยุติการผลิตที่โรงงานเดร็สเดิน ซึ่งมีคนงาน 340 คน และผลิตรถไฟฟ้า ID.3 ในปี 2568 ส่วนโรงงานอ็อสนาบรึคที่มีพนักงาน 2,300 คน และผลิต T-Roc Cabrio จะปิดตัวในปี 2570
แหล่งข่าวเผยว่า VW พร้อมขายโรงงานอ็อสนาบรึคให้ผู้ซื้อจากจีน โฆษกของบริษัทกล่าวว่า "เรามุ่งมั่นหาทางใช้ประโยชน์จากโรงงานต่อไป เป้าหมายคือต้องได้ทางออกที่ยั่งยืนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งบริษัทและพนักงาน"
ด้านบริษัทจีนกังวลว่าจะได้รับการตอบรับอย่างไรจากสหภาพแรงงานเยอรมนี ซึ่งครองที่นั่งครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทเยอรมนี และมักเรียกร้องการรับประกันเรื่องสถานที่และการจ้างงานอย่างครอบคลุม
สเตฟาน โซลดันสกี ตัวแทนสหภาพแรงงานจากอ็อสนาบรึค กล่าวว่า คนงานไม่ขัดข้องที่จะผลิตให้พันธมิตรร่วมทุนของโฟล์คสวาเกนในจีน "เราอาจผลิตอะไรบางอย่างให้กิจการร่วมค้าในจีนก็ได้ ... แต่ต้องอยู่ภายใต้โลโก้ VW และภายใต้มาตรฐานของ VW นี่คือเงื่อนไขสำคัญ"
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า บริษัทที่ต้องการลงทุนในเยอรมนีควรได้รับโอกาสนั้น "จีนได้ออกมาตรการเปิดกว้างเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้บริษัทต่างชาติ... หวังว่าฝ่ายเยอรมนีจะรักษาใจที่เปิดกว้าง และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติให้บริษัทจีนที่ต้องการลงทุน"
นายธนาคารที่คุ้นเคยกับ VW เปิดเผยว่า การขายโรงงานอาจถูกกว่าการปิดกิจการทั้งหมด โดยแต่ละโรงงานอาจมีมูลค่า 100-300 ล้านยูโร (103-309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)