ติ๊กต๊อก (TikTok) เริ่มทำการฟื้นฟูการให้บริการในสหรัฐฯ อีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ (19 ม.ค.) หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มติ๊กต๊อกต้องปิดตัวลง
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ติ๊กต๊อกหยุดให้บริการในสหรัฐฯ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 18 ม.ค. ก่อนที่กฎหมายสั่งห้ามใช้แอปพลิเคชันยอดนิยมนี้จะมีผลบังคับใช้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
"เราขอขอบคุณว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์สำหรับการให้ความชัดเจนและความมั่นใจแก่บรรดาผู้ให้บริการของเราว่าพวกเขาจะไม่ถูกลงโทษในการให้บริการติ๊กต๊อกแก่ชาวอเมริกันกว่า 170 ล้านคน และช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 7 ล้านรายเติบโต" ติ๊กต๊อกระบุในแถลงการณ์ พร้อมกับยืนยันว่า ติ๊กต๊อกจะร่วมมือกับทรัมป์เพื่อหาแนวทางแก้ไขในระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้แอปพลิเคชันติ๊กต๊อกสามารถดำเนินการในสหรัฐฯ ได้
ก่อนที่ติ๊กต๊อกจะฟื้นฟูการบริการนั้น ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มโซเชียลทรูธ โซเชียล (Truth Social) ของเขาว่า เขาจะออกคำสั่งบริหารในวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่าง ๆ ที่ช่วยติ๊กต๊อกฟื้นฟูการบริการในสหรัฐฯ จะไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดคำสั่งแบน
นอกจากกนี้ ทรัมป์เสนอให้มีการรวมกิจการกันระหว่างไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต๊อกและบริษัทใหม่ในสหรัฐฯ โดยที่บริษัทสหรัฐฯ จะถือหุ้น 50% โดยภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดีสามารถออกคำสั่งขยายเวลากำหนดเส้นตายได้ 90 วัน หากมีความคืบหน้าในการขายกิจการ
ทั้งนี้ คำสั่งแบนติ๊กต๊อกได้รับการลงนามเป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดือนเม.ย. 2567 หลังได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส จนกระทั่งในวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ม.ค.) ศาลฎีกาสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ เห็นพ้องตามกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งระบุให้ไบต์แดนซ์ขายกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐภายในวันที่ 19 ม.ค. มิฉะนั้นจะถูกสั่งแบนทั่วประเทศ
ขณะที่ติ๊กต๊อกและไบต์แดนซ์ระบุว่ากฎหมายดังกล่าว "ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ติ๊กต๊อกและไบต์แดนซ์ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย