นักวิเคราะห์กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ ลดลงอย่างฮวบฮาบ ตั้งแต่ครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก และดูเหมือนว่า แนวโน้มการลงทุนที่ลดลงนี้จะไม่ดีขึ้น แม้ทรัมป์จะกลับมาเป็นปธน.อีกสมัยก็ตาม นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งปธน.ในวันนี้ (20 ม.ค.) ซึ่งท่าทีนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ จะเข้มงวดกับจีนมากขึ้น
ราฟิก ดอสซานี นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันแรนด์ (RAND) ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า "ทรัมป์ไม่น่าจะคิดเรื่องจูงใจให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ หรอก นั่นอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะคิด"
"แนวคิดของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันอยู่แล้ว สิ่งที่ทรัมป์พยายามสื่อมาตลอดคือต้องการกีดกันจีนออกจากสหรัฐฯ อาจจะยอมให้สินค้าจีนบางอย่างเข้ามาขายได้บ้าง อย่างเช่น สินค้าราคาถูก" แต่ถ้าเป็นอย่างอื่น "อย่าหวังเลยว่าจะเข้ามาได้" ดอสซานีกล่าวเสริม
จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ (American Enterprise Institute) พบว่า การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีเงินลงทุนจากจีนไหลเข้าสหรัฐฯ เพียง 860 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ลดลงจาก 1.66 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.686 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปีที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยแรก
ในอดีต บริษัทจีนเคยเข้าซื้อกิจการที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น การซื้อโรงแรม วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย (Waldorf Astoria) ในนครนิวยอร์ก แต่ในปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลของทั้งสองประเทศได้เข้ามาควบคุมและชะลอการลงทุนเหล่านี้
แดเนียล โก๊ะ นักวิเคราะห์อาวุโสจากโรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) ให้ความเห็นผ่านอีเมลว่า "การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่รัฐบาลจีนเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2560 ประกอบกับทางสหรัฐฯ เองก็ได้ออกนโยบายหลายอย่างเพื่อควบคุมการลงทุนจากต่างชาติในบางอุตสาหกรรม"
โก๊ะยังกล่าวอีกว่า เธอไม่คาดหวังว่าใน "อนาคตอันใกล้" การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ จะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับสูงสุดเหมือนช่วงปี 2559-2560 พร้อมชี้ให้เห็นว่า บริษัทจีนไม่ได้เข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ เหมือนอย่างเคย แต่หันไปร่วมทุนขนาดเล็กกับบริษัทสหรัฐฯ หรือลงทุนในธุรกิจแบบกรีนฟิลด์ (Greenfield Investment) ซึ่งเป็นการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่อีฟ เอเนอร์จี (EVE Energy) ของจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีโดยถือหุ้น 10% ในการร่วมทุนกับแอคเซลเลอรา (Accelera) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของบริษัทอเมริกันด้านผลิตเครื่องยนต์อย่างคัมมินส์ (Cummins), เดมเลอร์ ทรัค (Daimler Truck) และแพคคาร์ (PACCAR) โดยบริษัทเหล่านี้ได้ประกาศแผนการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในรัฐมิสซิสซิปปีในเดือนมิ.ย. 2567 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2570 และสร้างงานได้มากกว่า 2,000 ตำแหน่ง
ด้านศิวะ หยั่ม ประธานหอการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางหอการค้าฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนเป็นหลักในการจัดตั้งสำนักงานในสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นการจัดตั้งธุรกิจสายการผลิต
หยั่มยังกล่าวถึงหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในสหรัฐฯ และจีนว่า "ปัจจุบันการลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีขนาดเล็กลง จึงไม่ค่อยเป็นที่จับตามอง และได้รับการอนุมัติได้ง่ายกว่า" อย่างไรก็ตาม หยั่มยังคงไม่แน่ใจว่าบริษัทจีนจะสามารถใช้การลงทุนเหล่านี้เพื่อชดเชยผลกระทบของมาตรการภาษีนำเข้าได้หรือไม่
ทั้งนี้ รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เริ่มระมัดระวังการลงทุนจากจีนมากขึ้น โดยเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา สื่อโพลิติโก (Politico) รายงานว่า มีรัฐมากกว่า 20 รัฐกำลังออกกฎใหม่เพื่อจำกัดการซื้อที่ดินของพลเมืองจีนและบริษัทจีน หรือกำลังปรับปรุงกฎที่มีอยู่ให้เข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา แฮกเกอร์ชาวจีนได้เจาะระบบสำนักงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการลงทุนจากต่างประเทศ ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น โดยอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ การเจาะระบบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจารกรรมข้อมูลครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ด้วย
เดเรก ซิสเซอร์ส นักวิจัยอาวุโสของสถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ ชี้ให้เห็นว่า แม้ทรัมป์จะยินดีรับการลงทุนจากจีนมากขึ้น หรือจะใช้มาตรการภาษีนำเข้าเพื่อบีบให้จีนเข้ามาลงทุน การลงทุนขนาดใหญ่นั้นก็ต้องใช้เวลานาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายของทรัมป์ก็ยังมีความไม่แน่นอน
"การที่ทรัมป์บอกว่าสหรัฐฯ เปิดรับบริษัทจีนในปี 2568 ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายนี้จะคงอยู่ไปจนถึงปี 2572" ซิสเซอร์สกล่าวเสริม