ขุนคลังเยอรมนีชี้ จำเป็นต้องแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 23, 2025 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เยิร์ก คูคีส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีวันนี้ (23 ม.ค.) ว่า เยอรมนีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะต้องดำเนินการแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของประเทศ

ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คูคีส์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวซีเอ็นบีซีว่า "เราเพิ่งถูก IMF ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลงอีกครั้ง"

"เราจำเป็นต้องแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของเราอย่างเร่งด่วน และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องดำเนินการตามแนวทางที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ" คูคีส์กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีลดลงทั้งในปี 2566 และ 2567 ขณะที่ตัวเลข GDP รายไตรมาสก็ชะลอตัวเช่นกัน แต่เศรษฐกิจเยอรมนียังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

ในเดือนนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP เยอรมนีปี 2568 ลงเหลือ 0.3% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 0.8% เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว และคาดว่าจะเติบโต 1.1% ในปี 2569

นอกจากนี้ คูคีส์ยังกล่าวถึงประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับ "กฎหมายจำกัดหนี้" ของเยอรมนี ซึ่งเป็นกฎการคลังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้จำกัดจำนวนหนี้ที่รัฐบาลสามารถก่อได้ โดยกำหนดให้การขาดดุลงบประมาณเชิงโครงสร้างของรัฐบาลกลางต้องไม่เกิน 0.35% ของ GDP ประเทศ

รัฐมนตรีคลังเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายจำกัดหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟ ถนน สะพาน การศึกษา และเครือข่าย 5G/6G ได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนหลักควรมาจากภาคเอกชน รัฐจึงต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดการลงทุน

คูคีส์ระบุว่า แม้บริษัทเยอรมนีจะมีผลประกอบการในระดับนานาชาติที่ดี ดังปรากฏในราคาหุ้น แต่กลับเผชิญแรงกดดันภายในประเทศ รัฐจึงจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในเยอรมนี

เพื่อรับมือกับคำขู่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ คูคีส์เน้นย้ำว่า การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ "ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลทั้งภายใต้การบริหารของปธน.ทรัมป์และปธน.ไบเดน และได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด"

คูคีส์กล่าวว่า การที่เยอรมนีมีความเสี่ยงสูงต่อมาตรการภาษีนำเข้านั้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ยังสามารถพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้

"ผมคิดว่า ทั้งสหรัฐฯ และเยอรมนีต่างมีความประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจากถ้อยแถลงบางส่วนที่ได้รับทราบก็ชี้ให้เห็นถึงความประสงค์ดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันในหลายภาคส่วน อาทิ พลังงาน บริการดิจิทัล เครื่องจักร และรถยนต์"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ