อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯเสี่ยงกำไรหด 3.3 หมื่นล้านดอลล์จากมาตรการภาษีทรัมป์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 3, 2025 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปที่เม็กซิโก แคนาดา และจีน อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และอาจมีผลกระทบต่อกำไรในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 ก.พ.) โดยกำหนดให้เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 10% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 ก.พ.

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า มาตรการภาษีนำเข้ามีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการนำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2567 และคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการนำเข้าจากแคนาดา

ข้อมูลจากเอสแอนด์พี โกลบอล โมบิลิตี (S&P Global Mobility) ระบุว่า 22% ของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ปี 2567 นั้น เป็นรถที่ผลิตในเม็กซิโกหรือแคนาดา ขณะที่อานินด์ยา ดาส นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ (Nomura Securities) ประมาณการว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก จีน และแคนาดา จะฉุดกำไรจากการดำเนินงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ลดลง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากขึ้นได้ขยายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก โดยได้ปัจจัยหนุนจากต้นทุนที่ต่ำกว่าและเงื่อนไขการค้าที่เอื้อประโยชน์ภายใต้ข้อตกลง USMCA

บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ได้ส่งออกรถยนต์จากเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 27% ของที่ขายทั้งหมดในสหรัฐฯ ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 13% และโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) 8% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่เม็กซิโกนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ครึ่งหนึ่งจากสหรัฐฯ แล้ว คาดว่าการตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีนำเข้าจะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับจีนมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์และเครื่องเสียง คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการนำเข้าทั้งหมดจากจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ