ธนาคารชั้นนำระดับโลกต่างคาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะยังคงพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2568 โดยมีแนวโน้มที่จะทะยานขึ้นแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และผลกระทบที่จะมีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นแรงหนุนราคาทองคำคือนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่จากประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างแคนาดา เม็กซิโก และจีน ซึ่งส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำในระยะใกล้ (0-3 เดือน) ขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ จากเดิม 2,800 ดอลลาร์ และคงตัวเลขคาดการณ์ราคาทองคำในช่วง 6-12 เดือนเอาไว้ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์
"ภาวะตลาดกระทิงของทองคำดูเหมือนว่าจะดำเนินต่อไปในยุคทรัมป์ 2.0 อันเนื่องมาจากสงครามการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เราคาดว่าราคาทองคำจะยังคงปรับตัวขึ้นในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สงครามการค้า ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงที่สร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจจะอยู่ในช่วงขาลง" ซิตี้กรุ๊ประบุ
ด้านธนาคารยูบีเอส (UBS) ระบุว่า แม้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรได้ผลักดันราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้วในสัปดาห์นี้ แต่ก็คาดว่าราคาทองคำยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอีก โดยยูบีเอสได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาทองคำขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
"เราเชื่อว่าตลอดปีนี้ ราคาทองคำจะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ขยายตัวกว้างขึ้นทั่วโลก และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากธนาคารกลาง"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC) บ่งชี้ว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4,974.5 เมตริกตันในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนที่สูงขึ้น และจากการที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2567