ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ไม่วันอังคารที่ 11 ก.พ. ก็วันพุธที่ 12 ก.พ. นี้ (ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า ไทยอาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเรียกเก็บภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับสอง ตามรายงานของเว็บไซต์มาร์เก็ตวอตช์ (Marketwatch)
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ได้จัดกลุ่มประเทศเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับ โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน "โซนเหลือง" หรือกลุ่มเสี่ยงระดับสอง ร่วมกับไต้หวันและเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มี "ความแตกต่างของภาษีศุลกากรสูงเป็นพิเศษ" เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ซึ่งมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงมาก ก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน
ส่วนประเทศที่ถูกจัดอยู่ในโซนแดง หรือกลุ่มเสี่ยงสูงสุด คือ จีนและอินเดีย ขณะที่ญี่ปุ่นและมาเลเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับสาม
ปธน.ทรัมป์เคยย้ำจุดยืนในวิดีโอหาเสียงเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ว่า "ถ้าอินเดีย จีน หรือประเทศไหนเก็บภาษี 100% หรือ 200% กับสินค้าอเมริกัน เราก็จะเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ 100% ก็ต้อง 100% ถ้าเขาเก็บภาษีเรา เราก็เก็บภาษีเขา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภาษีต่อภาษี ในจำนวนเดียวกันเป๊ะ"
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ให้มุมมองว่า การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมชัยชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ส่งสัญญาณถึงการกลับมาของนโยบายการค้าเข้มงวด โดยภาษีศุลกากรตอบโต้เป็นมาตรการที่ให้อำนาจประธานาธิบดีในการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เท่ากับอัตราที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน
การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจมีความรวดเร็วเนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา